อยุธยา 10 มิ.ย. – อบจ.พระนครศรีอยุธยา เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา ร่วมกับอาสาสมัครพิทักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน พัฒนาคลองสระบัว คลองโบราณฝั่งนอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา ให้กลับมามีความสวยงามเหมือนในอดีต
หลังจากสำนักข่าวไทยนำเสนอเรื่องราวชาวบ้านเรียกร้องให้มีการพัฒนาคลองสระบัว อ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นคลองโบราณฝั่งนอกเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา จากวัดหน้าพระเมรุราชิการาม ยาวไปจนถึงคลองขวด ระยะทาง 3 กม. เป็นคลองโบราณเก่าแก่ ซึ่งปัจจุบันถูกทิ้งรกร้างตื้นเขิน มีขยะ ทั้งที่คลองนี้สามารถเชื่อมกับคลองเมืองได้ ชาวบ้านและนักอนุรักษ์อยากให้มีการทำความสะอาดปากคลองสระบัวให้กลับมางดงาม คลองสวยน้ำใสเหมือนโบราณ ซึ่งสามารถขุดลอกคลองให้เชื่อมคลองเมืองและคลองขวดได้ เพื่อให้นักประวัติศาสตร์ นักท่องเที่ยว ได้เห็นถึงความสำคัญ เนื่องจากในอดีต ท้าวศรีสุดาจันทร์ เคยใช้คลองนี้เสด็จพระดำเนินไปดูการจับช้างที่เพนียด
นอกจากนี้ชาวบ้านยังอยากให้มีการปรับปรุงภูมิทัศน์รอบบริเวณเส้นทางดังกล่าว มีป้ายบอกทาง เนื่องจากเป็นเส้นทางท่องเที่ยวด้วย ขณะนี้เครือข่าย ทสม.จังหวัดพยายามของบประมาณจากภาครัฐ ในการพัฒนาคลองเส้นดังกล่าว แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับ
ล่าสุดอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน หรือ ทสม.จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้จัดกิจกรรมรณรงค์สร้างจิตสำนึก กระตุ้นการพัฒนาคลองสระบัว ต.ท่าวาสุกรี อ.พระนครศรีอยุธยา โดยนายบดินทร์ เกษมศานต์ นายอำเภอพระนครศรีอยุธยา เป็นประธาน มีอาสาสมัครเครือข่าย ทสม. ในพื้นที่ ร่วมประมาณ 50 คน โดยได้รับความร่วมมือจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา ส่งคนงานมาร่วมในการตัดหญ้าและวัชพืชในคลองดังกล่าว อีกทั้งยังมีเจ้าท่าจังหวัด ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมจังหวัด มาร่วมในกิจกรรมครั้งนี้ ในโอกาสนี้พระครูอนุกูลศาสนกิจ เจ้าคณะอำเภอพระนครศรีอยุธยา เจ้าอาวาสวัดศาลาปูนวรวิหาร และพระพิศาลวิหารกิจ เจ้าอาวาสวัดหน้าพระเมรุราชิการาม เป็นประธานในการปล่อยพันธุ์ปลาลงในคลองเมือง โดยได้รับการสนับสนุนพันธุ์ปลาจากประมงจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สำหรับกิจกรรมที่จัดขึ้นครั้งนี้ ต้องการกระตุ้นสำนึกให้ประชาชนในพื้นที่ ร่วมกันฟื้นฟูคลองสระบัวด้วย
หลังจากพัฒนาแล้ว ทาง อบจ. จะได้พิจารณาจัดหางบประมาณในการขุดลอกคลองโบราณเส้นนี้ เพื่อให้กลับมาเป็นคลองที่ใช้งานได้เหมือนอดีต โดยจะต้องจัดหาเครื่องจักรหนักมาทำการขุดลอกต่อไป.-สำนักข่าวไทย