เชียงใหม่ 28 พ.ค.- ชาวบ้าน ต.ดอนคา อ.บางแพ จ.ราชบุรี รวมกลุ่มเลี้ยงด้วงสาคูใช้ต้นสาคู และเปลือกทุเรียนที่แม่ค้าปอกขายแล้วทิ้ง นำไปเลี้ยงเพียง 45 วัน จับด้วงขายรายได้หลักหมื่นต่อเดือน
อำนาจ บุญสวัสดิ์ เกษตรกร หมู่ 4 ต.ดอนคา อ.บางแพ จ.ราชบุรี ผันอาชีพจากการเลี้ยงลูกพันธุ์ปลานิลไว้จำหน่าย แต่ช่วงการแพร่ระบาดโควิด 19 ระบาดระลอกที่ 3 ทำให้ครอบครัวได้รับผลกระทบ จึงต้องปรับเปลี่ยนหาอาชีพเสริมใหม่มาเลี้ยงด้วงสาคูได้ประมาณ 3 เดือนเศษ โดยมีเพื่อนสมาชิกในกลุ่มประมาณเกือบ 600 คน หันมาเลี้ยงด้วงส่งขายตามตลาดนัด เลี้ยงง่าย โตเร็ว ใช้เวลาเพียงเดือนเศษ ก็สามารถจับขายส่งจำหน่ายตลาดได้แล้ว อีกทั้งที่กลุ่มเลี้ยงด้วงสาคูยังมีเทคนิคการเลี้ยงที่แปลกโดยนำเปลือกทุเรียนที่แม่ค้าขายเนื้อทุเรียนไปแล้ว นำมาใส่ในกะละมังร่วมกับวัสดุอื่นๆ เพื่อให้ด้วงกิน สามารถลดต้นทุนการเลี้ยงได้เยอะมาก
คุณอำนาจ บอกเลี้ยงมาประมาณ 3 เดือนแล้ว เดือนแรกขายได้ประมาณกว่า 10,000 บาท เดือนที่ 2 ได้เงินกว่า 20,000 บาท และเดือนที่ 3 ได้เงิน 50,000 กว่าบาท เป็นสิ่งที่ตอบรับกับอาชีพช่วงสถานการณ์โควิด – 19 อยากให้คนที่ตกงานยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรดีนั้นให้ลองมาเลี้ยงด้วงสาคูกัน ตอนนี้มีการส่งออกต่างประเทศไปที่จีน และอีกหลายประเทศที่ต้องการโปรตีนของด้วง โดยนำไปตรวจสอบแล้วที่แล็บอยู่ที่ 28 โปรตีน เป็นด้วงสด แต่หากเป็นด้วงทอดอยู่ที่ 27 โปรตีน ส่งขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ และชาวบ้านทั่วไปนำไปทอดขาย
ด้วงสาคูจึงถือได้ว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจของกลุ่มชาวบ้านใน อ.บางแพ ที่หันมาสนใจทดลองเลี้ยงส่งออกขายตามตลาดทั่วไป เป็นสัตว์ที่มีโปรตีนสูง เมื่อนำทอดใส่ในกะทะจะมีลักษณะสีเหลืองอ่อน ลูกค้าหรือผู้ที่ชื่นชอบแมลงทอดกรอบก็บอกได้เป็นเสียงเดียวกันกันว่ารสชาติมันดี ไม่แพ้กับแมลงทั่วไปที่เคยทอดขาย ถือเป็นอีกตัวอย่างอาชีพที่ดีที่ได้ทำมาหากินสร้างรายได้ สร้างอาชีพในยุคปัจจุบัน สร้างความเข้มแข็งในกลุ่มจนประสบความสำเร็จ สำหรับผู้สนใจสามารถเข้าไปที่กลุ่มไลน์ด้วงสาคู จ.ราชบุรี กับเผือกเจริญฟาร์ม 089-5489994 และ 088-4589994 .-สำนักข่าวไทย