22 พ.ค. – ชีวิตของช้างตกงาน หลังเกิดการระบาดของโควิด-19 จนทำให้ปางช้างปิดตัวลงเกือบทั้งหมด ปัจจุบันกำลังรอคอยความช่วยเหลือจากผู้ใจบุญ
การระบาดของโควิด-19 ไม่ได้ทำให้ลำบากเฉพาะคน แต่ช้างก็ลำบากด้วย เนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวปางช้างจนต้องปิดชั่วคราว ทำให้ควาญช้างต้องหาเงินมาซื้ออาหารเอง เช่นครอบครัว “น้องจูเนียร์” ลูกช้างวัย 5 เดือน ซึ่งไลฟ์ผ่าน Facebook หาค่าอาหารช้างที่เลี้ยงไว้ 5 เชือกและมีผู้ใจบุญช่วยเหลือพอสมควร
“น้องจูเนียร์” กำลังโด่งดังในโลกออนไลน์ เพราะความน่ารักที่ “ควาญแบงค์” หรือ นายกิตติวินท์ อมรสิน ถ่ายทอดสดผ่านเพจ “น้องจูเนียร์ Family” โดยครอบครัวของควาญแบงค์อยู่ที่ ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ เลี้ยงช้างไว้ 5 เชือก ทำงานในปางช้างยุทธศักดิ์ แต่เมื่อโควิด-19ระบาดระลอกแรก ทำให้ปางช้างต้องปิดจนถึงปัจจุบัน และต้องแยกย้ายกันออกมาเลี้ยงช้างเอง
ก่อนหน้านี้ “ควาญแบงค์” ได้นำเงินเก็บมาซื้อต้นข้าวโพดเป็นอาหารช้าง รวมถึงเกี่ยวหญ้าตามธรรมชาติ กระทั่งเกิดโควิด-19 ระบาดระลอกเมษายน จึงไลฟ์ผ่านเพจเพื่อขอรับค่าอาหารช้าง โดยช้างจะกินเฉลี่ย 200-300 กิโลกรัมต่อตัวต่อวัน ต้องซื้อต้นข้าวโพดวันละ 1 ไร่ ราคาไร่ละ 500-600 บาท รวมทั้งกำลังหาเงินสร้างโรงช้างอีกด้วย โดยล่าสุดพบว่ามีเพื่อนควาญช้าง ปางช้าง และองค์กรที่ทำงานเกี่ยวข้องกับช้าง พยายามรณรงค์รับบริจาคสนับสนุนการเลี้ยงช้างและดูแลช่วยเหลือสุขภาพช้างอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลจากสมาคมสหพันธ์ช้างไทย ระบุว่า ก่อนเกิดโควิด-19 มีปางช้าง 250 แห่ง ขณะนี้ส่วนใหญ่ปิดชั่วคราว เหลือแต่ปางช้างที่เป็นเจ้าของช้างเอง ส่วนปางที่เช่าช้างมาเพื่อทำธุรกิจต้องปิดกิจการเกือบทั้งหมด ทำให้ต้องพาช้างกลับบ้านเกิด ทั้งที่สุรินทร์ บุรีรัมย์ และตาก แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ การไม่มีความพร้อมของแหล่งอาหารรองรับช้างที่กลับบ้าน โดยควาญพยายามหาอาหารมาเลี้ยง แต่บางเชือกได้รับไม่เพียงพอ ส่งผลให้เครียดและอ่อนแอ ยิ่งถ้าช้างออกจากปางจะทำให้ห่างไกลจากสัตวแพทย์ที่จะเข้าไปดูแล จึงเสนอให้รัฐทำโครงการซื้อผลผลิตตกค้างจากเกษตรกรเพื่อเป็นอาหารช้าง ซึ่งจะช่วยทั้งช้างและเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลการบริจาคโทร. 065-016-5567 หรือ FB : น้องจูเนียร์ Family . – สำนักข่าวไทย