นครพนม 28 เม.ย.- เหยื่อภิกษุณี อรหันต์เก๊ ลวงโลก ตั้งผ้าป่าแชร์ลูกโซ่ตุ๋นชาวบ้าน แค่อำเภอเดียวเกือบ 200 ราย ทยอยเข้าแจ้งความเผาผิดฐานฉ้อโกงประชาชน รวมมูลค่าเกือบ 10 ล้านบาท
ที่ สภ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ยังคงมีประชาชน ผู้เสียหาย ตกเป็นเหยื่อภิกษุณีเก๊ลวงโลก เจ้าสำนักลัทธิห่มแดง คือ นางสาวอิสรีย์ หรือพระยาธรรมมิกราช อินทร์ไชยา หรือแม่ชีอู๋ อายุ 49 ปี ซึ่งตั้งตนเป็นภิกษุณีเจ้าสำนัก อาศัยอยู่ภายในสำนักปฏิบัติธรรม วิปัสสนา พระพุทธสิกขี ตั้งอยู่เลขที่ 210 หมู่ 1 บ้านดงโชค ต.หนองญาติ อ.เมือง จ.นครพนม โดยทางตำรวจได้นำหมายศาลเข้าจับกุม ฐานความผิดฉ้อโกงประชาชน เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา พร้อมจับกุม แม่ชีนายหน้าที่หาลูกค้าอีก 2 คน
หลังมีประชาชนบางรายในพื้นที่ อ.เมือง อ.ปลาปาก และ อ.ท่าอุเทน ผู้ตกเป็นเหยื่อถูกหลอกให้ซื้อกองทุนผ้าป่าแบบคืนกำไร จนสูญเงินไปหลายแสนบาท ทำให้มีชาวบ้านที่ตกเป็นเหยื่อทราบข่าว เดินทางเข้ามาแจ้งความร้องทุกข์ ต่อพนักงานสอบสวน ที่ สภ.เมืองนครพนม รวมถึง สภ.ท่าอุเทน อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ สภ.ท่าอุเทน อำเภอเดียว มีผู้เสียหายตกเป็นเหยื่อจำนวนเกือบ 200 ราย รวมมูลค่าเป็นเงินเกือบ 10 ล้านบาท
ด้านนางสาวกชกร วงศ์สุวรรณ อายุ 46 ปี ชาว ต.รามราช อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม หนึ่งในผู้เสียหาย เปิดเผยว่า ตนยอมรับว่าตกเป็นเหยื่อเพราะความโลภ อยากได้ผลกำไรตอบแทน โดยเริ่มต้นจากมีแม่ชี นางสาวไพลิน สุนทรสุวรรณ อายุ 31 ปี หรือแม่ชีการ์ตูน ชาว อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม มาเป็นนายหน้าชักชวน ให้ซื้อกองทุนผ้าผ่าช่วยเหลือคนจน ซึ่งมีเงื่อนไขเป็น 2 รูปแบบ คือ ผ้าป่ากองเงิน จะซื้อในราคากองละ 2,000 บาท ส่วนผ้าป่าทองคำ จะซื้อเป็นเงินสดราคากองละประมาณ 3,500 บาท แต่จะได้ผลตอบแทนเป็น สร้อยคอทองคำรูปพรรณ น้ำหนัก 1 สลึง ตนจึงเลือกซื้อเป็นผ้าป่าทองคำ ประมาณ 2-3 กอง ภายหลังซื้อ 5-7 วัน จะได้ทองคำจริง ซึ่งได้ผลตอบแทนจริงในช่วงแรก หลังจากนั้น ตนจึงซื้ออีก 30 กอง รวมเป็นเงินแสนกว่าบาท สุดท้ายผ่านไปหลายเดือน ยังไม่ได้ทองคำ ยอมรับว่า ลงทุนไปเพราะอยากได้เงินมาใช้จ่าย และไม่แน่ใจว่าจะได้เงินคืน ถือเป็นบทเรียนราคาแพง
ด้าน พ.ต.อ.แสวง คนคล่อง ผกก.สภ.ท่าอุเทน จ.นครพนม เปิดเผยว่า ได้ตั้งทีมพนักงานสอบสวนไว้อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ที่ได้รับความเดือดร้อน กรณีถูกหลอกซื้อกองทุนผ้าป่า ให้รีบมาแจ้งความ เพื่อพนักงานสอบสวนจะได้รวบรวมพยานหลักฐานเอาผิดกับผู้ต้องหา จากกการตรวจสอบข้อมูลพบว่า มีผู้เสียหายเกือบ 200 ราย ที่ถูกหลอกกำลังทยอยเข้ามาแจ้งความกับตำรวจ ส่วนรูปแบบจากการสอบถามชาวบ้าน เป็นกลโกงไม่ต่างจากแชร์ลูกโซ่ ซึ่งถือเป็นความผิดฉ้อโกงประชาชน จะต้องมีการดำเนินคดีเป็นรายบุคคล ต่างกรรมต่างวาระ ส่วนความผิดตามกฎหมาย มีโทษทั้งจำทั้งปรับ และโทษสูงสุดจำคุก 2 ปี ในผู้เสียหาย 1 ราย หากมีหลายรายจะเพิ่มโทษตามความผิดที่เกิดขึ้น เพราะเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระ.-สำนักข่าวไทย