บึงกาฬ 10 ธ.ค.-ลูกช้างป่า “ชบาแก้ว” ป่วยและตายกะทันหัน สัตวแพทย์คาดติดเชื้อไวรัสในช้าง อาจเกิดจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ทำให้ลูกช้างป่า เครียดส่งผลให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลง
สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 10 รายงานว่าลูกช้างป่า “ชบาแก้ว” ป่วยและตายกะทันหัน เมื่อวานนี้ (9 ธ.ค.) โดยนายทวีป คำแพงเมือง หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว สัตวแพทย์ของกรมอุทยานแห่งชาติฯ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้ทำการดำเนินการตรวจสอบ ชันสูตร และเก็บตัวอย่าง หลักฐานต่างๆ จากซากลูกช้างป่าที่ล้ม และได้ทำการกลบฝังซาก โรยยาฆ่าเชื้อ ตามหลักวิชาการเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค และประกอบพิธีกรรมทางศาสนา รวมทั้งจะได้นำส่งตัวอย่างไปยังหน่วยงานเพื่อยืนยันการตรวจวินิจฉัย 3 แห่ง คือศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (สุรินทร์) คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ
โดยเบื้องต้นพบว่าที่ผ่านมาชบาแก้ว มีร่างกายที่สมบูรณ์ แข็งแรง เป็นปกติ ได้ทำการเจาะเลือดตรวจสุขภาพ ไม่มีอาการหรือลักษณะที่บ่งบอกว่ามีการป่วยหรือติดเชื้อแต่อย่างใด จึงตั้งสมมติฐานอาการป่วยไว้ 2 ประเด็น คือ 1 มีลักษณะอาการคล้ายติดเชื้อโรคเฮอร์ปีไวรัสในช้าง (EEHV) และเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียในระบบทางเดินทางอาหาร ซึ่งทั้งสองอาการนั้นอาจเกิดมาจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทำให้ลูกช้างป่า ชบาแก้ว เกิดความเครียดส่งผลให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลง จนเป็นสาเหตุให้เกิดการติดเชื้อและแสดงอาการอย่างรวดเร็ว โดยในช่วงระหว่างวัน 1- 8 ธันวาคม 2563 อุณหภูมิในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว และท้องที่อำเภอบุ่งคล้า จังหวัดบึงกาฬ ได้ลดต่ำลง อุณหภูมิต่ำสุดอยู่ประมาณ 12–14 องศาเซลเซียส ในตอนเช้า และอุณหภูมิจะสูงขึ้นในตอนบ่าย ประมาณ 34 องศาเซลเซียส ซึ่งอุณหภูมิมีความแตกต่างกันอย่างมากระหว่างกลางวันและกลางคืน