ตรัง 7 ต.ค. – หนุ่มชาวประมงพื้นบ้าน จ.ตรัง ออกเรือหาปลาพบ “อำพันทะเล” หรือ “อ้วกวาฬ” กลางทะเล หนักเกือบ 4 กก. เตรียมนำส่งตรวจพิสูจน์ที่ ม.อ. ก่อนประกาศขาย
เมื่อวานนี้ (6 ต.ค.) นายพงษ์พันธ์ ทองสลับ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 7 ต.เขาไม้แก้ว อ.สิเกา จ.ตรัง พาผู้สื่อข่าวลงพื้นที่พิสูจน์ “อำพันทะเล” หรือ “อ้วกวาฬ” ที่ชาวประมงพื้นบ้านพบลอยอยู่กลางทะเล ระหว่างบ้านแหลมไทรกับเกาะไหง ผู้ที่พบ คือ นายโชคอนันต์ จงรักษ์ หนุ่มชาวประมงพื้นบ้าน ได้นำก้อนอำพันทะเล หรือ อ้วกวาฬ ออกมาให้ดู โดยห่อผ้าขนหนูและใส่กระเป๋าเป้ไว้ เมื่อแกะออกดูพบว่า ลักษณะของก้อนอ้วกวาฬ เป็นก้อนไร้รูปทรง ด้านหนึ่งเป็นรูโพรงอากาศ มีเม็ดคล้ายๆ ทราย ส่วนอีกด้านเป็นผิวมันเรียบ ความยาวประมาณ 40 เซนติเมตร กว้าง 30 เซนติเมตร สูง 20 เซนติเมตร ชั่งน้ำหนักได้ 3.7 กิโลกรัม
นายโชคอนันต์ เล่าว่า หลังพบอ้วกวาฬ ได้นำไปส่งให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จ.ตรัง ตรวจพิสูจน์ว่าเป็นอ้วกวาฬจริงหรือไม่ แต่มหาวิทยาลัยยังไม่มีความพร้อมเรื่องเครื่องมือ จึงพิสูจน์ชี้ขาดไม่ได้ นายพงษ์พันธ์ ทองสลับ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 7 จึงประสานไปยังนายลือพงษ์ อ๋องเจริญ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีตรัง เพื่อให้ประสานไปยังสถาบันวิจัยและนวัตกรรมอาหาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) สงขลา พิสูจน์ว่า ก้อนที่พบกลางทะเลตรังเป็นอ้วกวาฬของจริงหรือไม่ ซึ่งทาง ผอ.สถาบันวิจัยและนวัตกรรมอาหาร ม.อ. จะนัดแนะให้นำมาพิสูจน์ต่อไป
นายโชคอนันต์ บอกว่า ตนและน้องชายออกเรือไปกลางทะเล ห่างจากบ้านแหลมไทร ประมาณ 10 กิโลเมตร มุ่งหน้าไปยังเกาะไหง จ.กระบี่ ช่วงจะค่ำแล้ว เวลาประมาณ 17.00-18.00 น. น้องชายเห็นว่ามีก้อนอะไรลอยกลางทะเลลึก จึงหันหัวเรือกลับไป พบว่าเป็นอ้วกวาฬที่เป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง จึงนำขึ้นมาไว้บนเรือ เมื่อหาปลาเสร็จก็นำกลับบ้าน และบอกกับเพื่อนบ้านญาติพี่น้อง ที่ผ่านมาชาวบ้านที่นี่ยังไม่เคยมีใครพบเห็นหรือได้สัมผัสอ้วกวาฬของจริง ครั้งนี้เป็นครั้งแรก จึงทำให้ทุกคนรู้สึกตื่นเต้นดีใจ ซึ่งหากผลพิสูจน์จาก ม.อ. ออกมาว่าเป็นอ้วกวาฬจริง ก็จะประกาศขายให้กับผู้ที่สนใจ
อ้วกวาฬ เป็นผลผลิตจากการสำรอก หรือการขับถ่ายของวาฬสเปิร์ม (วาฬหัวทุย) เท่านั้น กระบวนการที่ก่อให้เกิด คือ การกินหมึกที่เป็นอาหารหลักเข้าไป จนเกิดการสะสมของคอเลสเตอรอลในลำไส้ปลาวาฬ ก้อนไขมันชนิดนี้ประกอบด้วยคอเลสเตอรอลและไขมัน ร้อยละ 80 รวมถึงสารเบนโซอิก และแอลกอฮอล์ เมื่ออ้วกวาฬถูกขับออกมาจากท้องของวาฬในตอนแรกนั้นจะมีกลิ่นคาวและกลิ่นมูลสัตว์ ซึ่งเหม็นสุดๆ แต่เมื่อผ่านไประยะหนึ่งก็จะมีกลิ่นหอมมาก และด้วยความที่อ้วกวาฬเป็นของหายาก ราคาแพง ที่ใช้เป็นวัตถุดิบหัวน้ำหอม ทำให้มีราคาแสนแพง จนถูกขนานนามว่าเป็นทองลอยได้แห่งท้องทะเล จึงทำให้เกิดการเสาะหาของนักแสวงโชคและกลุ่มชาวประมง สามารถพบได้ตามชายหาด หรือกลางทะเล ซึ่งในอดีตมีการออกล่าวาฬสเปิร์ม เพื่อผ่าเอาไขมันชนิดนี้มาแล้ว ก่อนจะยุติจากกฎหมายคุ้มครองวาฬ
มีรายงานว่า ก่อนหน้านี้เคยมีผู้พบเห็นอ้วกวาฬหลายราย และขายได้ในราคาสูง เช่น ประเทศโอมาน พบอ้วกวาฬ น้ำหนัก 60 กิโลกรัม ขายได้ราคา 100 ล้านบาท
30 กันยายน 2552 ชาวประมงบ้านหินลาด ต.คุระ อ.คุระบุรี จ.พังงา พร้อมเพื่อน พบอำพันทะเลคล้ายแท่งน้ำมันสีขาวปนสีเงิน บางส่วนมีสีเหลืองอร่าม บริเวณชายหาดเกาะพระ จึงเก็บกลับบ้าน จากนั้นทราบว่ามีราคาสูงมาก จึงกลับไปที่บริเวณดังกล่าว พบอำพันอีกหลายสิบกิโลกรัม ขณะนั้นมีคนมาขอซื้อราคากิโลกรัมละ 25,000 บาท แต่ยังไม่ขาย เนื่องจากมีผู้รู้บอกว่า อำพันทะเลมีราคาเป็นแสน ต่อมามีพ่อค้าจากประเทศมาเลเซีย ติดต่อขอซื้อในราคากิโลกรัมละ 70,000 บาท แต่ชาวบ้านยังยืนกรานไม่ขาย จนข่าวเงียบไป กระทั่งปัจจุบันไม่มีใครล่วงรู้ว่ามีการซื้อขายหรือไม่ ในราคาเท่าใด?
2 ตุลาคม 2552 มีชาวบ้านชายหาดไม้ขาว ต.ไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต พบวัตถุลักษณะคล้ายอำพันทะเล น้ำหนัก 10 กิโลกรัม ลักษณะสีขาวขุ่นอมเหลือง ส่งกลิ่นคาวเล็กน้อย ชาวบ้านเชื่อกันว่ามีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 40,000-50,000 บาท/กิโลกรัม และเมื่อข่าวดังกล่าวออกไป ทำให้ประชาชนทั่วไปเกิดการตื่นตัวและสนใจเป็นอย่างมาก หวังจะเจอลาภลอยจากทะเลเกยมาบนหาด ได้รวยกับเขาบ้าง และหลายคนอยากรู้เช่นกันว่า สรุปมีพ่อค้ามาติดต่อซื้อหรือไม่. – สำนักข่าวไทย