เชียงใหม่ 1 ต.ค.-ทันตแพทย์หนุ่มโพสต์เฟซบุ๊กเดินหน้าขอความเป็นธรรม กรณีภรรยาเสียชีวิตขณะรักษาอาการปวดท้องน้อยที่โรงพยาบาล ด้านอธิบดีกรมสนับสุนนบริการสุขภาพ สั่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ
กรณีทันตแพทย์ธีระวุทฒ์ หวงสุวรรณากร หรือ หมอบอย เจ้าของคลินิกทันตกรรม ในจังหวัดเชียงใหม่ ร้องทุกข์เหตุภรรยาเสียชีวิตขณะรักษาอาการปวดท้องน้อย ที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ เมื่อต้นเดือนกันยายน ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าเสียชีวิตจากการแพ้สารทึบรังสีขณะเอกซเรย์หาสาเหตุของการปวดท้องและคลื่นไส้อาเจียน แต่ก็มีหลายประเด็นที่หมอบอยและครอบครัวติดใจสงสัยว่า การซักประวัติ การวินิจโรค การเอกซเรย์ รวมถึงขั้นตอนการรักษาและการช่วยชีวิต เป็นไปตามขั้นตอนทางการแทพย์หรือไม่ เนื่องจากภรรยาเข้ารักษาเพียง 7 ชั่วโมง ก็เสียชีวิต โดยเมื่อวานหมอบอย เปิดแถลงกับสื่อมวลชนไปแล้ว
ล่าสุดในเฟซบุ๊กของหมอบอย ได้โพสต์ภาพคู่กับเภสัชกรหญิงปวีร์ธิดา วัฒนสมบูรณ์ ภรรยาที่เสียชีวิตไป พร้อมข้อความ “ที่ผ่านมา มีเรื่องอะไรกิ๊ฟจะคอยออกหน้าปกป้องพี่เสมอ จากนี้ไป พี่จะปกป้องกิ๊ฟเอง สู้ด้วยกันอีกตั้ง พี่จะทำให้ดีที่สุด” แสดงถึงความตั้งใจในการร้องขอความเป็นธรรมให้กับภรรยาและลูกในครรภ์ที่เสียชีวิต ซึ่งทีมข่าวได้โทรศัพท์ สอบถามครอบครัวของหมอบอย ยืนยัน จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับการติดต่อใดๆจากทางโรงพยาบาล ซึ่งคงต้องเดินหน้าขอความเป็นธรรม โดยจะเดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนกับทางแพทยสภาในวันจันทร์หน้า (5 ต.ค.) หลังจากแจ้งความไปแล้ว โดยตำรวจยังรอผลการตรวจพิสูจน์ของผู้เสียชีวิต
ขณะที่ นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสุนนบริการสุขภาพ หรือ สบส. สั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่กองกฎหมาย และศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพที่ 1 ประสานขอความร่วมมือจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ ตรวจสอบข้อเท็จจริง และตรวจสอบมาตรฐานของโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าว เมื่อวานนี้ พร้อมประสานขอประวัติผู้ป่วย และเอกสารทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการ รักษาพยาบาล เบื้องต้นโรงพยาบาลเอกชนได้ชี้แจงว่า แพทย์พบผู้เสียชีวิตมีประวัติอาการปวดหน่วงท้องและแสบเวลาปัสสาวะ มีประจำเดือนครั้งสุดท้ายเมื่อต้นเดือนกันยายน 2563 จึงเชื่อว่าไม่มีการตั้งครรภ์ อีกทั้งไม่มีประวัติการแพ้ยาและอาหารใดๆ จึงทำการเอกซเรย์
อย่างไรก็ตาม สบส. จะนำข้อมูลที่ได้ทั้งหมดเสนอต่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแพทยสภาตรวจสอบมาตรฐานการรักษา เพื่อให้เกิดความกระจ่าง และคลายข้อสงสัย หากพบว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ก็จะดำเนินการด้านจริยธรรมกับแพทย์ผู้ให้บริการ รวมทั้งผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ซึ่งถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 ฐานไม่ควบคุม ดูแลให้แพทย์ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบวิชาชีพ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ.-สำนักข่าวไทย