30 ส.ค.-ปล่อยสัตว์ป่าไทย 360 ตัว คืนสู่ธรรมชาติทุ่งกะมัง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว หวังฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าให้กลับมาสมบูรณ์
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดโครงการปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติ ส่งสัตว์ป่าคืนวนา เพื่อป่าสมบูรณ์ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกิจกรรมปล่อยสัตว์ป่า บริเวณทุ่งกะมัง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เพื่อสืบสานพระราชปณิธานในการอนุรักษ์สัตว์ป่าของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ในด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า โครงการปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติ ส่งสัตว์ป่าคืนวนา เพื่อป่าสมบูรณ์ เป็นโครงการสำคัญด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าสายพันธุ์แท้ และเพิ่มความหลากหลายทางชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว โดยครั้งนี้ได้ปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติ 6 ชนิด รวม 360 ตัว ประกอบด้วย ละอง หรือละมั่งพันธุ์ไทย 7 ตัว, เนื้อทราย 20 ตัว, เก้ง 10 ตัว, นกยูงไทย 23 ตัว, ไก่ฟ้าพญาลอ 200 ตัว และไก่ฟ้าหลังขาว 100 ตัว โดยสัตว์ป่าที่ปล่อยเข้าไปใหม่นี้จะมีผลต่อการปรับปรุงสายพันธุ์สัตว์ป่า แก้ปัญหาเลือดชิด และมีความหลากหลายทางพันธุกรรมมากขึ้น โดยกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้คัดเลือกสัตว์ป่าจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าภูเขียวที่มีสุขภาพดีแข็งแรงสมบูรณ์ เป็นสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่ โดยได้เตรียมความพร้อมปรับสภาพให้สัตว์ป่าสามารถดำรงชีวิตในธรรมชาติได้ นอกจากนี้ทีมวิจัยยังได้เก็บตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจโรค การติดเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ สำหรับใช้ศึกษา ติดตามตัว และพฤติกรรมสัตว์ป่าหลังปล่อยคืนสู่ธรรมชาติด้วย
การปล่อยสัตว์ป่าคืนสูาธรรมชาติครั้งนี้ นอกจากเป็นการให้อิสรภาพแก่สัตว์ที่เพาะเลี้ยงไว้ให้อยู่ในแหล่งอาศัยตามธรรมชาติ ยังช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์แก่ระบบนิเวศให้ผืนป่าแห่งนี้ต่อไปอย่างยั่งยืน
นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่าเนื้อทรายที่เคยปล่อยคืนสู่ธรรมชาติในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปลอดภัย สืบต่อสายพันธุ์และกระจายออกจากบริเวณที่ปล่อยไปยังพื้นที่ข้างเคียงมากขึ้น โดยตลอดมาได้มีการปล่อยเนื้อทรายในพื้นที่อนุรักษ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง จนทำให้เนื้อทรายถูกถอดชื่อออกจากบัญชีสัตว์ป่าสงวน ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติเพื่อฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่า หายากและเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ระบบนิเวศอย่างแท้จริง .-สำนักข่าวไทย