เลย 4 ส.ค. – ตัวแทนภาคประชาชนจังหวัดเลย และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เรียกร้องให้ทางจังหวัดเร่งจัดการปัญหาการบุกรุกป่าต้นน้ำ หลังน้ำป่าไหลหลากซัดบ้านสูบ ตำบลน้ำสวย อำเภอเมืองเลย เป็นสัญญาณเตือนภัย หวั่นเกิดเหตุซ้ำรอย
บ้านสูบ ตำบลน้ำสวย อำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย ตั้งอยู่ในพื้นที่แอ่งกระทะ โอบล้อมด้วยภูทอกและภูน้ำลาย เหตุน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วม 2 วันก่อน จำนวนน้ำที่ลงมาเท่ากับปริมาณฝนที่ตก แต่หากมีมวลน้ำสะสมอาจสร้างความเสียหายมากกว่านี้หลายเท่า
ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 6 ถือว่าเป็นสัญญาณเตือนภัยให้ทุกส่วนเร่งหามาตรการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอย เพราะมีการบุกรุกพื้นที่ป่าต้นน้ำจนเหลือต้นไม้ดูดซับ ชะลอน้ำน้อยลง จังหวัดเลยมีการบุกรุกพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 และ 2 กว่า 800,000 มากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ ประสบการณ์ในอดีตสอนว่าลำพังกรมป่าไม้ดูแลป่าได้ไม่เต็มที่ หากชุมชนไม่ให้ความร่วมมือ จึงใช้ป่าชุมชนเป็นกลไกดึงชาวบ้านมีส่วนร่วม ซึ่งได้ผลดีกว่า ปีนี้มี 3 โครงการหลักบริหารจัดการให้ชาวเลยอยู่กับป่า 6,000 ไร่ ในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ นาแห้ว ด่านซ้าย ภูเรือ ภูหลวง และผาขาว ลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว หันมาปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ส่วนการปลูกป่าทดแทนของจังหวัดเลย ปีนี้มีแปลงเดียว 600 ไร่ ที่อำเภอท่าลี่
นายทุนต่างภาคเข้ามาบุกรุกปลูกต้นแมคคาเดเมียร์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าดงขุนแคมฯ ตำบลโคกใหญ่ อำเภอท่าลี่ เจ้าหน้าที่ทวงคืนผืนป่ากลับมา 3 ปีก่อน ขณะนี้กำลังทยอยปลูกไม้ทดแทน อาทิ พะยูง สัก มะค่า ยางนา มะม่วงป่า จากนั้นจะจ้างชาวบ้านดูแลวันละ 300 บาทต่อคน ตลอด 10 ปี
ขณะที่ตัวแทนภาคประชาชนเรียกร้องให้ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือจิสด้า เข้ามาทาบ ตรึงพื้นที่ทั้งจังหวัด เพื่อแก้ปัญหาภายใต้กลไกคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ คทช. ซึ่งได้ผลดีในพื้นที่อำเภอนาแห้ว จนยึดเป็นโมเดลในการบริหารจัดการคนกับป่า
เสียงสะท้อนชาวบ้านในตำบลน้ำสวย อำเภอเมืองเลย พบว่ามีข้าราชการชั้นสูงบุกรุกป่าปลูกยางพาราหลายร้อยไร่ ท้องถิ่นควรใช้เหตุน้ำป่าไหลหลากเป็นโอกาสเร่งจัดทำข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เสร็จภายในเดือนนี้ เพื่อให้ทันกรอบการแก้ปัญหาคนกับป่าในปีหน้า.-สำนักข่าวไทย