มหาสารคาม 3 เม.ย. – หมู่บ้านปั้นหม้อ หรือบ้านหม้อ ต.เขวา อ.เมืองมหาสารคาม ชาวบ้านส่วนใหญ่รวมกลุ่มกันปั้นหม้อขายมายาวนานกว่า 200 ปี
หมู่บ้านหม้อ เป็นกลุ่มคนที่อพยพมาจากนครราชสีมา มาตั้งรกรากอยู่ที่นี่ เพราะมีหนองน้ำและดินเหมาะสำหรับทำเครื่องปั้นดินเผา จึงรวมตัวกันทำมาหากินที่นี่มานานกว่า 200 ปี
นางใจ หวังทิวกลาง บอกว่า หม้อที่นี่ เป็นหม้อดินแบบโบราณ ปั้นแบบดั้งเดิม แต่มีอุปกรณ์ผสมดินเปลี่ยนแปลงไปตามยุคตามสมัย แต่ลักษณะหม้อยังเน้นรูปแบบการปั้นขึ้นรูปด้วยมือ มีหลายแบบ เช่น หม้อแอ่งน้ำหรือตุ่มใส่น้ำ หม้อสุกี้ หม้อแจ่วฮ้อน กระถางต้นไม้ กระถางประดับตกแต่ง และหม้อไหใส่กะดูก (ชาวบ้านเรียกไหแม่นาค) กลุ่มมีสมาชิกเพียง 20 ราย มีแต่คนเฒ่าคนแก่ที่สืบทอด ห่วงอนาคตอาจเหลือไว้เพียงชื่อหมู่บ้าน

หม้อปั้นดินเผาของบ้านหม้อ เป็นหม้อปั้นดินเผาที่มีเอกลัษณ์ รูปทรงไม่ค่อยเหมือนที่อื่น และมีสีเหลืองอมแดงสวยงาม กำลังผลิตประมาณ 30 ชิ้นต่อวันต่อคน ราคามีตั้งแต่ 50-200 บาท
ส่วนลูกค้าทางอีสานมีความต้องการเป็นจำนวนมาก เพราะนำไปใช้ในพิธีกรรม เก็บอัฐิ โดยจะมีพ่อค้าในชุมชนนำไปขายส่งให้ร้านค้าทั่วภาคอีสาน
สำหรับผู้ที่สนใจหม้อปั้นดินเผาโบราณ มาอุดหนุนได้ที่บ้านหม้อ ต.เขวา อ.เมืองมหาสารคาม สอบถามได้ที่เบอร์ 094-958-6529 . – สำนักข่าวไทย