กรุงเทพฯ 1 ธ.ค. – วิปรัฐบาล จ่อ ควง ชูศักดิ์ หารือ “วันนอร์” ก่อนเดินหน้าแก้ รธน. พร้อมจ่อเคลียร์ “ปชน.-ภท.” ปมเห็นต่างจำนวนประชามติ
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์ว่า ตนได้นัดประชุม วิปรัฐบาล ในวันที่ 9 ธ.ค. เพื่อพิจารณาในวาระที่ต้องพิจารณาในการประชุมสภาฯ ช่วงที่เปิดสมัยประชุม วันที่ 12 ธ.ค. นี้ ทั้งนี้ได้ประสานไปยังเจ้าหน้าที่ของสภาฯ ให้รวบรวมรายละเอียดไว้แล้ว ส่วนกรณีที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ฐานะประธานรัฐสภา ระบุว่า เตรียมเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เป็นรายมาตรา จำนวน 17 ฉบับ ซึ่งเสนอโดยพรรคฝ่ายค้าน และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) จำนวน 3 ฉบับตามที่รัฐบาลประสานนั้น เบื้องต้นตนจะนัดหารือกับนายวันมูหะนัดนอร์ อีกครั้งโดยจะหารือร่วมกับนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ด้วย
นายวิสุทธิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่พบว่ามีการแสดงความเห็นต่อเรื่องจำนวนประชามติ 2 ครั้ง ยอมรับว่าแต่ละฝ่ายยังเห็นไม่ตรงกันโดยพรรคประชาชนมองว่าสามารถทำประชามติจำนวน 2 ครั้งได้ ส่วนพรรคภูมิใจไทยมองว่าต้องทำ 3 ครั้ง จำเป็นอย่างยิ่งต้องประชุมเพื่อเจรจาหารือให้ได้ข้อสรุปร่วมกันและเพื่อให้เกิดทางออกที่ดี
นายวิสุทธิ์ กล่าวด้วยว่าสำหรับการทำประชามติต้องยอมรับว่ามีปัญหาในชั้นของการออก พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ต่อประเด็นที่ใช้เป็นเกณฑ์ผ่านประชามติ ที่ทำให้ต้องยับยั้งร่างแก้ไขไว้ 180 วัน ดังนั้นต้องรอเวลา เพื่อให้สภาฯ ยืนยันในเกณฑ์ของการออกเสียงประชามติที่ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว
“การแก้รัฐธรรมนูญจะแก้ใหญ่หรือแก้รายมาตรา หากแนวทางใดที่ทำได้ก่อน จะทำไป ซึ่งการแก้ไขทั้งฉบับพรรคเพื่อไทยต้องการให้แก้ไข ตามที่ประกาศเป็นนโยบายหาเสียงไว้ แต่ปัจจุบันพบข้อติดขัดหลายอย่าง โดยเฉพาะกุญแจดอกสำคัญคือ ประชามติ ที่ต้องยอมรับว่ามีปัญหาทั้งในส่วนของ สว. ไม่เห็นด้วย พรรคภูมิใจไทยงดออกเสียง ทั้งนี้ผมเข้าใจว่าเป็นธรรมดาของการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ต้องมีความเห็นต่างกัน” นายวิสุทธิ์ กล่าว
เมื่อถามว่าในสมัยรัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะเห็นความสำเร็จของการแก้รัฐธรรมนูญในชั้นไหน ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า รัฐบาลพยายามทำเต็มที่แต่ติดเรื่องประชามติ ดังนั้นเมื่อพยายามเต็มที่แล้วแต่ไม่ทัน ประชาชนที่ติดตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญมา ทราบดีว่าติดขัดตรงไหน ไม่ราบรื่นอย่างไร ดังนั้นหากพยายามเต็มที่แล้วไม่ทันไม่เป็นไร โดยตนยืนยันว่ารัฐบาลและพรรคเพื่อไทยไม่ได้ดึงเกมใดๆ ทั้งสิ้น แต่การเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่มีคนเห็นด้วย ไม่เห็นด้วยหรืองดออกเสียงถือเป็นเรื่องธรรมดาของระบอบประชาธิปไตย.-312-สำนักข่าวไทย