เพชรบูรณ์ 2 ต.ค. – หนึ่งเดียวในโลก งานประเพณีอุ้มพระดำน้ำ ที่ จ.เพชรบูรณ์ เริ่มขึ้นแล้ว ขบวนแห่ทางบก-ทางน้ำ ยิ่งใหญ่ตระการตา
งานประเพณีอุ้มพระดำน้ำ หรือพิธีอัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชา พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของ จ.เพชรบูรณ์ ลงสรงน้ำ เป็นประเพณีที่แปลก และมีเพียงแห่งเดียวในโลก ซึ่งชาวเพชรบูรณ์ได้ทำสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ นานกว่า 400 ปี โดยกำหนดจัดขึ้นในช่วงเทศกาลสารทไทยของทุกปี ซึ่งปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 กันยายน – 6 ตุลาคม 2567 เป็นเวลา 10 วัน 10 คืน
โดยในช่วงเย็นวันที่ 1 ตุลาคม 2567 นายชนก มากพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ได้อัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชา จากวัดไตรภูมิ มาประดิษฐานบนราชรถบุษบก ออกแห่ทางบกไปรอบๆ เขตเทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้กราบไหว้สักการะบูชา และอัญเชิญกลับมาประดิษฐาน ณ มณฑปวัดไตรภูมิ พร้อมจัดมหรสพสมโภชเฉลิมฉลอง
และเมื่อเวลา 09.39 น. วันนี้ (2 ต.ค.67) ซึ่งตรงกับวันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 เป็นวันสารทไทยและวันสำคัญของงาน นายชนก ได้อัญเชิญพระพุทธมหาธรรมราชามาประดิษฐานบนเรือบุษบก ออกแห่ทวนน้ำในแม่น้ำป่าสัก บริเวณท่าน้ำหน้าวัดไตรภูมิ เพื่อประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำ ณ ท่าน้ำวัดโบสถ์ชนะมาร ซึ่งตามตำนานเล่าขานสืบทอดกันมาว่า มีชาวบ้านที่ไปทอดแหหาปลา ได้พบพระพุทธมหาธรรมราชา กำลังดำผุดดำว่ายอยู่ จึงอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่วัดไตรภูมิ จนถึงปัจจุบัน
สำหรับการประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำ ผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งมีศักดิ์เทียบเท่ากับพ่อเมืองในสมัยโบราณ จะเป็นผู้อุ้มพระพุทธมหาธรรมราชาลงดำน้ำ พร้อมกับกรมการเมืองทั้ง 4 คือ เวียง วัง คลัง นา โดยมีพระสงฆ์ จำนวน 9 รูป สวดชัยมงคลคาถา โดยการประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำ ในปี 2567 ซึ่งเป็นปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ 72 พรรษา จ.เพชรบูรณ์ จึงจัดให้มีการประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำเป็นกรณีพิเศษ จากเดิม 6 ครั้ง เพิ่มเป็น 9 ครั้ง โดยทำพิธีอุ้มพระดำน้ำในทิศใต้ก่อน จำนวน 3 ครั้ง จากนั้นทำพิธีอุ้มพระดำน้ำตามทิศที่ได้เสี่ยงทายไว้อีก 6 ครั้ง คือ ครั้งแรก และครั้งที่ 2 อุ้มในทิศเหนือ ครั้งที่ 3 ครั้งที่ 4 ครั้งที่ 5 อุ้มในทิศใต้ และครั้งที่ 6 อุ้มในทิศเหนือ เพื่อขออำนาจบารมีพระพุทธมหาธรรมราชา ช่วยดลบันดาลให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข ฝนตกต้องตามฤดูกาล
หลังจากประกอบพิธีอุ้มพระดำน้ำเสร็จ ก็จะมีการโยนเครื่องเซ่นถวาย ซึ่งเป็นข้าวต้มมัด กระยาสารท และข้าวตอกดอกไม้ ให้กับประชาชนที่มาร่วมในพิธี เพื่อเป็นสิริมงคล
ส่วนในช่วงบ่าย มีการประกวดเรือสวยงาม และแข่งขันเรือพายทวนน้ำ ส่วนในช่วงกลางคืน มีงานเทศกาลอาหารอร่อยจากอำเภอต่างๆ พร้อมการแสดงแสง สี เสียง ไลท์แอนด์ซาวด์ ตามตำนานประวัติความเป็นมาของพระพุทธมหาธรรมราชา และมหรสพสมโภชอีกมากมาย ตลอดทั้ง 10 วัน 10 คืน. – สำนักข่าวไทย