ตรัง 17 ก.ย. – ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งตรัง เพาะขยายพันธุ์ปลาการ์ตูน หรือปลานีโม่ สำเร็จแล้วถึง 20 สายพันธุ์ พร้อมส่งเสริมให้ผู้ที่สนใจนำไปประกอบอาชีพเลี้ยงปลาสวยงามจำหน่าย ปัจจุบันตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศต้องการ
ปลาการ์ตูน หรือ ปลานีโม่ หลากหลายสายพันธุ์ ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งตรัง สามารถเพาะขยายพันธุ์ได้สำเร็จแล้วถึง 20 สายพันธุ์ มีทั้งปลานีโม่ประจำถิ่นฝั่งตะวันออก ฝั่งอ่าวไทย ฝั่งอันดามัน สายพันธุ์ต่างประเทศและปลานีโม่ไฮบริด (ลูกผสม) เช่น ปลาการ์ตูนลายปล้อง การ์ตูนส้ม-ขาว การ์ตูนอานม้า การ์ตูนอินเดีย การ์ตูนมะเขือเทศ การ์ตูนแดง-ดำ การ์ตูนแดง การ์ตูนดำ การ์ตูนทอง การ์ตูนเพอร์คูล่า การ์ตูนปิกัสโซ่และอื่น ๆ ซึ่งมีสีสันที่สวยงามแตกต่างกันไป
น.ส.พัชรี ซุ่นสั้น ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งตรัง เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยฯ ได้ทำการศึกษา วิจัย และทดลองเลี้ยง ขยายพันธุ์จนปัจจุบันประสบผลสำเร็จ สามารถเพาะเลี้ยงและจำหน่ายให้กับเกษตรกรที่สนใจ เพื่อสร้างอาชีพ นำไปเลี้ยงต่อ หรือเพาะขยายพันธุ์ขายเป็นรายได้เสริม รวมทั้งปล่อยคืนสู่แนวปะการังในธรรมชาติ ถือว่าเป็นแหล่งเพาะปลาการ์ตูนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้
สำหรับราคาจำหน่าย เริ่มต้นที่ตัวละ 70-350 บาท ขนาด 3-4 ซม. หากเป็นขนาดใหญ่ราคาจะสูงขึ้น ในปีนี้มียอดจำหน่ายมากกว่า 50,000 ตัว สร้างรายได้เกือบ 1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่เพาะเลี้ยงและจำหน่ายได้ราว 30,000-40,000 ตัว
ปัจจุบันตลาดเป็นที่ต้องการอย่างมาก มีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อไปขายต่อทั้งในและต่างประเทศ เช่น เวียดนาม มาเลเซีย ส่วนพันธุ์ที่ขายดีที่สุดคือปลาการ์ตูน ส้ม-ขาว และสายพันธุ์ปีกัสโซ่ มีความโดดเด่นเรื่องสีสัน และพลิ้วไหว
ผู้สนใจติดต่อสอบถามได้ที่ศูนย์วิจัยฯ ในพื้นที่ อ.สิเกา จ.ตรัง มีนักวิชาการพร้อมให้ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงปลาการ์ตูน เป็นอีกอาชีพที่น่าสนใจ. – สำนักข่าวไทย