19 ก.ค. – “ปลาหมอคางดำ” บุกนอกเขต 3 ไมล์ทะเลอ่าวไทย ประมงจังหวัดยอมรับเข้าขั้นวิกฤติ เร่งประชุมทุกภาคส่วนร่วมแก้ไข ขณะบ่อเลี้ยงกุ้ง เผยกระทบหนักตั้งแต่ปี 66 ต้องหยุดเลี้ยง ลุ้นรัฐบาลรับซื้อกิโลกรัมละ 15 บาท พร้อมจับ หวังกลับมาเปิดบ่อ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดสมุทรปราการ หรือ ศรชล.จังหวัดสมุทรปราการ นาวาเอก ทิฆัมพร สมนึก รอง ผอ.ศรชล.จว.สมุทรปราการ เป็นประธานในการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังจากช่วงสายวันที่ 17 ก.ค.ที่ผ่านมา นายสมพร เกื้อสกุล ประมงจังหวัดสมุทรปราการ ลงพื้นที่ไปดูจุดที่ชาวบ้านพบการระบาดของปลาหมอคางดำ ที่คลองตาเจียน หมู่ 6 ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ
นายสมพร กล่าวว่า ยอมรับปลาหมอคางดำ ของ จ.สมุทรปราการ ระบาดอยู่ในขั้นวิกฤติ พบที่ อ.พระสมุทรเจดีย์ และ ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ นอกจากนี้ยังพบอยู่ในพื้นที่ อ.เมืองสมุทรปราการ และ ต.เปร็ง อ.บางบ่อ เพิ่มอีก
ส่วนราคาที่รับซื้อตอนนี้มีความหลากหลายในแต่ละพื้นที่ ล่าสุด นายธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายให้ภาครัฐช่วยรับซื้อในราคาที่เหมาะสม คือ 15 บาทต่อกิโลกรัม ขณะนี้รอคำสั่งอย่างเป็นทางการ และพร้อมดำเนินการในทันที
ส่วนเกษตรกรวังกุ้ง หมู่ 9 บ้านขุนสมุทรจีน ต.แหลมฟ้าผ่า อ.พระสมุทรเจดีย์ หลังประชุมได้นำคลิปวิดีโอปลาหมอคางดำ ที่ถ่ายไว้จากบ่อเลี้ยงกุ้งของตนมาให้ดู พร้อมกล่าวว่า ได้รับผลกระทบจากปลาหมอคางดำ เมื่อปลายปี 2566 แต่หนักสุดเมื่อ 1 เดือนที่ผ่านมา ปลาหมอคางดำกินและทำลายกุ้ง หอย ที่เลี้ยงไว้หมดบ่อ จับได้รวมประมาณ 2 ตัน แต่เวลานั้นไม่มีที่ไหนรับซื้อ และไม่มีใครให้ข้อมูลใดๆ จึงจำเป็นต้องนำปลาหมอคางดำทั้งหมดทิ้งลงทะเล และต้องหยุดทำธุรกิจบ่อกุ้งก่อนอย่างไม่มีกำหนด หากภาครัฐรับซื้อ 15 บาทต่อกิโลกรัม คิดว่าน่าจะทำให้ปลาหมอคางดำมีปริมาณลดลงอย่างรวดเร็ว และจะกลับมาประกอบอาชีพได้อีกครั้ง
นายพิชัย แซ่ซิ้ม นายกสมาคมการประมง จ.สมุทรปราการ กล่าวว่า ได้รับรายงานว่ามีชาวประมงพื้นบ้านจับปลาหมอคางดำได้นอกเขต 3 ไมล์ทะเล หลังผ่าท้องพบมี “เคย” จำนวนมาก กังวลว่าหากปล่อยไว้อาจทำให้เกิดปัญหาหนักกับกลุ่มประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ จึงอยากฝากถึงหน่วยงานภาครัฐช่วยเร่งดำเนินการหาวิธีแก้ไขอย่างรวดเร็ว และขอให้ผ่อนผันกฎหมายการทำประมง ขยายขนาดของเรือ จากไม่เกิน 3 ตันกรอส เป็นไม่เกิน 10 ตันกรอส พร้อมให้คณะกรรมการประมงประจำจังหวัด เป็นผู้กำหนดทั้งรูปแบบ เครื่องมือ พื้นที่และขนาดเรือ เพื่อความคล่องตัวและแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด
จากนั้นพาผู้สื่อข่าวดูบริเวณปลายแม่น้ำเจ้าพระยา ปากอ่าวไทย จุดที่ชาวประมงทอดแหครึ่งชั่วโมง จับปลาหมอคางดำได้ประมาณครึ่งถังพลาสติกเป็นประจำทุกวัน นำมาเทลงพื้นให้ผู้สื่อข่าวดู พร้อมตั้งข้อสังเกตความห่วงใย ว่าปลาหมอคางดำอาจจะไปทำลายสัตว์น้ำต่างๆ ในทะเลอ่าวไทยจนหมด และอาจขยายวงกว้างไปสู่ทะเลของประเทศเพื่อนบ้าน สร้างปัญหาอย่างหนัก อาจทำให้สัตว์น้ำในทะเลลึกสูญพันธุ์ได้
ขณะที่ นายปริญญา ช่างภาพสัตว์ป่าอันดับต้นๆ ของประเทศไทย เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากญาติที่ทำรีสอร์ตที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ว่ามีชาวประมงและชาวบ้านในพื้นที่มาจับปลาบริเวณชายหาดหน้ารีสอร์ต โดยจับปลาได้หลายชนิด มีทั้งปลากระบอก ปลาสีกุน ปลานวลจันทร์ทะเล ซึ่งเป็นปลาท้องถิ่นที่จับได้อยู่เป็นประจำ แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ก.ค. มีปลาหมอคางดำติดมาจำนวนมาก ซึ่งมากกว่าปลาท้องถิ่นที่ชาวบ้านจับได้เสียอีก
ทั้งนี้ ตนเคยไปถ่ายภาพสัตว์และตกปลาที่ อ.สามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขัน ตามแหล่งน้ำที่นักตกปลานิยมไปตก พบว่าเจอแต่ปลาหมอคางดำตัวใหญ่มาก แสดงว่าถ้าอยู่ในน้ำจืดจะเติบโตได้ดีกว่าอยู่ในน้ำเค็ม ปกติแถวสามร้อยยอด เจอปลานิลเยอะมาก แต่ล่าสุดที่ตนไปปลานิลหายไป มีปลาหมอคางดำมาแทนที่ แต่ชาวบ้านที่ อ.สามร้อยยอด นิยมนำมาทำอาหารรับประทาน เพราะรสชาติดี ตนเคยชิมมาแล้ว ถ้าไปตามตลาดนัดจะเจอพ่อค้าแม่ค้านำปลาหมอคางดำมาขายจำนวนมาก.-สำนักข่าวไทย