นครราชสีมา 30 เม.ย.- “เจ้าแสนสิริ” ควายเปลี่ยนสีได้ ปีที่แล้วสีเผือก ปีนี้สีดำ เจ้าของบอกเปลี่ยนสีมา 3 ปีแล้ว เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ครบุรียืนยันไม่ได้ป่วยหรือเป็นโรคผิวหนัง ร่างกายสมบูรณ์ทุกอย่าง แถมเพิ่งตกลูก
“เจ้าแสนสิริ” กระบือเพศเมีย อายุประมาณ 5 ปี ซึ่งอยู่ภายในคอกกระบือของกลุ่มอนุรักษ์และพัฒนากระบือไทยบ้านโปร่งสนวน ต.ลำเพียก อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา จุดศูนย์รวมเพาะเลี้ยงกระบือพันธุ์ไทยของชาวบ้านที่ได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานปศุสัตว์อำเภอครบุรี ที่นำกระบือจากโครงการธนาคารโคกระบือเพื่อเกษตรกรตามแนวพระราชดำริ มามอบให้เกษตรกรได้นำไปเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างความมั่นคงให้กับครอบครัว จำนวน 40 ราย ตอนนี้กำลังเปลี่ยนจากสีเผือกมาเป็นสีดำอย่างแปลกประหลาด เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอครบุรี ยืนยันว่ากระบือตัวนี้ไม่ได้ป่วยหรือเป็นโรคผิวหนัง แต่มีสภาพร่างกายที่สมบูรณ์ดีทุกอย่าง และเพิ่งตกลูก 1 ตัว เมื่อไม่กี่เดือนมานี้
กระบือตัวนี้ เมื่อเดือนสิงหาคม 2566 ทีมข่าวได้มาเก็บภาพเอาไว้เพื่อพิสูจน์ ซึ่งตอนนั้น ผิวของกระบือตัวนี้ด้านซ้ายของลำตัวจะเป็นสีเผือกเกือบทั้งหมด ส่วนด้านขวาเป็นสีดำทั้งหมด แต่มาวันนี้กลับมีสีดำเกือบทั้งตัว มีเพียงรอยจุดเล็กเท่านั้นที่ยังคงเป็นสีเผือกอยู่ ซึ่งทางเจ้าของกระบือ ยืนยันว่าเปลี่ยนสีไปมาอย่างนี้เป็นเวลา 3 ปีแล้ว
นางวาสนา บรรเทิงใจ เจ้าของกระบือ บอกว่า กระบือตัวนี้ได้รับมอบมาจากสำนักงานปศุสัตว์อำเภอครบุรี เมื่อปี 2564 ตอนแรกมีสีดำทั้งตัว แต่พอเลี้ยงกลับเริ่มมีเม็ดสีเผือกและลุกลามไปทั่วทั้งตัว คิดว่าเป็นโรคผิวหนัง จึงให้เจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจรักษา แต่ก็ไม่พบว่ามีอาการป่วยเป็นโรคผิวหนังแต่อย่างใด แม้จะหาวิธีต่าง ๆ มาหยุดไม่ให้สีลุกลามแต่ก็ไม่เป็นผล กระทั่งกลายเป็นสีเผือกเกือบทั้งตัวในช่วงเดือนเมษายน ผ่านไปไม่นานก็กลับไปเป็นสีดำทั้งตัวอีกครั้ง สร้างความประหลาดใจอย่างมาก
ล่าสุดเมื่อช่วงเดือนสิงหาคม “เจ้าแสนสิริ” ยังมีสีเป็นสีเผือกเกือบทั้งตัว แต่วันนี้กลับกลายเป็นสีดำเกือบทั้งตัวอย่างที่เห็น ถือเป็นกระบือที่มีความพิเศษ ตนและชาวบ้านแถบนี้ไม่เคยมีใครพบเห็นมาก่อน แต่คิดว่าน่าจะเกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ไม่ได้เป็นเรื่องเหนือธรรมชาติ
ด้านปศุสัตว์อำเภอครบุรี บอกว่า “เจ้าแสนสิริ” ตอนนำมามอบให้เมื่อปี 2564 ก็มีสีดำทั้งตัวจริง และสามารถเปลี่ยนสีได้อย่างที่เห็น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ยาก แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเกิดจากความผิดปกติของเม็ดสีที่ได้รับการสืบทอดต่อมาทางพันธุกรรม ทำให้เกิดมีการเปลี่ยนสีดังกล่าว .-สำนักข่าวไทย