20 ต.ค. – เทศกาลกินเจหลายพื้นที่มีหลายความเชื่อ ที่ จ.ตรัง องค์ศักดิ์สิทธิ์กิวอ่องเอี่ย จัดพิธีหามเค่ว หรือหามเกี้ยวพระ ลุยน้ำว่ายข้ามแม่น้ำตรัง ระยะทางประมาณ 150 เมตร 1 ปีมีครั้งเดียว เพื่อรำลึกถึงเส้นทางเดินเรือของชาวจีนที่นำสินค้ามาขึ้นฝั่งที่บ้านท่าจีน
ที่สะพานข้ามแม่น้ำตรัง บริเวณบ้านท่าจีน ต.บางรัก อ.เมืองตรัง ขบวนองค์ศักดิ์สิทธิ์กิวอ่องเอี่ย อ.เมืองตรัง ประกอบพิธีหามเค่ว หรือหามเกี้ยวพระ อัญเชิญองค์กิวอ่องไต่เต่และองค์ศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ลุยน้ำ โดยการว่ายข้ามแม่น้ำตรังจากฝั่งสะพานที่อยู่ในเขตเทศบาลนครตรัง ไปฝั่งบ้านท่าจีน ระยะทางประมาณ 150 เมตร โดยมีคนหามเค่วที่มีความชำนาญในการว่ายน้ำจำนวน 10 คน ช่วยกันหามเค่วพระจำนวน 2 เค่ว ไปขึ้นฝั่งที่ศาลเจ้าฮงสั้นซี้ ต.บางรัก ซึ่งเป็นศาลเจ้าเก่าแก่ที่ชาวจีนสร้างขึ้นมีอายุกว่า 200 ปี ซึ่งพิธีกรรมดังกล่าวกำหนดจัดขึ้นทุกปีในงานประเพณีถือศีลกินเจ หรือในวันขึ้น 6 ค่ำเดือน 9 ตามปฏิทินจีน
ประชาชนนุ่งขาวห่มขาวร่วมพิธีกันอย่างคึกคัก เนื่องจากพิธีดังกล่าวเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ที่ 1 ปีมีเพียงครั้งเดียว เพื่อรำลึกถึงสถานที่อันเป็นปฐมบทในการจัดงานประเพณีถือศีลกินเจในอดีต ที่บรรพชนล่องเรือมาตามแม่น้ำตรังโดยมาขึ้นฝั่งที่บ้านท่าจีน ซึ่งเป็นท่าเรือที่รุ่งเรืองในสมัยก่อน และถือเป็นจุดกำเนิดของการจัดงานประเพณีถือศีลกินเจจากอดีตถึงปัจจุบันหรือเกือบ 200 ปีมาแล้ว
การหามเค่วว่ายข้ามแม่น้ำตรัง ปีนี้มีกระแสน้ำไหลเชี่ยว แต่การหามเค่วเป็นไปผ่านไปได้ด้วยดี ท่ามกลางกำลังใจของชาวบ้านและผู้ร่วมพิธีจำนวนมาก
ส่วนที่ จ.พังงา บรรยากาศนี้มีมาให้เห็นทุกปี ช่วงเทศกาลกินเจ ปีนี้ก็ไม่แพ้กัน เพราะที่สถานธรรมวัดบางเสียด เขาจัดทำพิธีลุยไฟงานถือศีลกินผัก ปี 2566 ที่สถานธรรมวัดบางเสียด ต.บางเตย อ.เมืองพังงา พระครูสังฆรักษ์ปิยะ อตฺถยุตฺโต เจ้าอาวาสวัดบางเสียด ร่วมกับศาลเจ้าแม่ม่าจ้อโป๋ ประกอบพิธีโก้ยโห้ย หรือพิธีลุยไฟ ในงานประเพณีถือศีลกินผักปี 2566 โดยมีนายพงษ์วัฒน์ บุญโกย กำนันตำบลบางเตย พร้อมด้วยม้าทรงจากศาลเจ้าต่าง ๆ ในพื้นที่ รวมถึงประชาชนที่ร่วมถือศีลกินผักเข้าร่วม ใช้ถ่านไฟจำนวน 99 กระสอบ ก่อเป็นกองไฟยาว 9 เมตร เริ่มจากม้าทรงองค์เทพเริ่มลุยก่อนต่อด้วยฮวดกั้ว พี่เลี้ยงพระและประชาชนที่มีความมั่นใจว่าตัวเอง ถือศีลกินผักอย่างเคร่งครัด
พระครูสังฆรักษ์ปิยะ เปิดเผยว่า ทางวัดและชุมชนได้ขอใช้พื้นที่โรงเรียนเก่าที่ยุบไปแล้ว ตั้งเป็นสถานธรรมวัดบางเสียดขึ้นมา เพื่อรวมรวมความเชื่อต่างๆ ของบรรพบุรุษมาไว้ในสถานธรรม เช่น ครูหมอมโนราห์ ตาพราน นางกวัก ไอ้ไข่อันดามัน และศาลเจ้า ไว้ให้ชาวบ้านที่นับถือได้เข้ามาศึกษา มาไหว้บูชากัน ประกอบกับในอดีตได้เคยเป็น ฮวดกั้ว (ผู้มีวิชาทางไสยศาสตร์ทำหน้าที่บริกรรมคาถา อัญเชิญเทพเจ้าต่าง ๆ มาประทับทรงในมนุษย์ หรือเป็นผู้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง ใช้คาถาอาคมส่งสาส์นจากมนุษย์ถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรมต่างๆ) ที่ศาลเจ้าแม่ม่าจ้อโป๋ ซึ่งในงานประเพณีถือศีลกินผักทุกปีนั้นทางสถานธรรมก็จัดด้วยเช่นกัน. – สำนักข่าวไทย