บุรีรัมย์ 26 ก.ย. – ขนมตดหมา หรือภาษาเขมรพื้นถิ่นเรียกว่า “เวือระพอม” กลับมาได้รับความสนใจจากประชาชนและนักท่องเที่ยวอีกครั้ง หลังกระทรวงวัฒนธรรมยกให้เป็นเมนูอาหารพื้นถิ่น “1 จังหวัด 1 เมนูเชิดชูอาหารถิ่น” ปี 2566 ของจังหวัดบุรีรัมย์
วันนี้พาไปรู้จักที่มาของต้นตดหมา พืชสมุนไพรที่นำมาเป็นส่วนผสมในการทำขนมตดหมา รวมถึงขั้นตอนการทำขนมตดหมาต้นตำรับ ที่บ้านสนวนนอก อ.ห้วยราช จ.บุรีรัมย์ ต้นตดหมา หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่า กระพังโหม เป็นพืชไม้เลื้อย ลำต้นและใบมีกลิ่นฉุน จึงเรียกกันว่า ตดหมา ขึ้นเองตามรั้วบ้าน ป่าละเมาะ สมัยโบราณคนเฒ่าคนแก่นิยมนำใบไปใช้ทาบริเวณสะดือให้ลูกหลานที่มีอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ส่วนรากจะนำไปต้มรับประทานเป็นยาสมุนไพรแก้ความดัน เบาหวาน หรืออาการท้องอืด บางคนนำรากตดหมาไปต้มแล้วนำน้ำผสมทำขนมตดหมารับประทานในครัวเรือน เป็นขนมที่เกิดจากภูมิปัญญาของคนสมัยก่อน แต่พอยุคสมัยเปลี่ยน อาหารการกินและยารักษาโรคมีหลากหลายมากขึ้น รุ่นลูกหลานจึงไม่นิยมนำมาทำขนมหรือใช้รักษาอาการท้องอืดเหมือนเมื่อก่อน อีกทั้งกลิ่นของใบตดหมาค่อนข้างฉุน จึงพากันกำจัดทิ้ง
กระทั่งหน่วยงานภาครัฐมีโครงการส่งเสริมหมู่บ้านสนวนนอก เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว จึงพลิกฟื้น ขนมตดหมา กลับมาอีกครั้ง จากนั้นชาวบ้านก็ต่อยอดทำขายให้กับนักท่องเที่ยวที่ไปเยือน และเคยเป็นขนมที่ใช้สำหรับต้อนรับนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีเมื่อครั้งเดินทางดูเยือน จ.บุรีรัมย์ ปัจจุบันชาวบ้านจะอนุรักษ์ต้นตดหมาไว้ เพราะนักท่องเที่ยวที่มาเยือนนอกจากจะรับประทานขนมตดหมาแล้ว ยังอยากเห็นต้นตดหมาด้วย
ขนมตดหมา มีลักษณะคล้ายขนมจาก แต่ห่อด้วยใบตองสด ข้างในมีส่วนผสมของแป้งข้าวเหนียว น้ำตาล มะพร้าวอ่อน กะทิสด เกลือ และขาดไม่ได้คือน้ำต้มรากตดหมา คลุกเคล้าส่วนผสมให้เข้ากัน พักไว้หนึ่งชั่วโมงให้แป้งขึ้น แล้วจึงนำเนื้อขนมมาใส่ใบตองห่อในขนาดที่พอเหมาะเป็นชิ้นยาว ๆ นำไปย่างบนเตาไฟให้สุก เมื่อแกะออกมา เนื้อแป้งแห้งเกรียม กลิ่นหอม รสชาติหวานมันอร่อย กลมกล่อม ขายเพียง 5 บาท . – สำนักข่าวไทย