ตรัง 2 ส.ค. – สองแม่ลูกตระเวนหาใบไผ่มาทำ “บะจ่างน้ำด่าง” กินคู่กับน้ำตาลแดง ขนมพื้นบ้านที่นับวันหากินได้ยาก เนื่องจากคนรุ่นใหม่กินไม่เป็น แต่ยังขายได้ในกลุ่มอายุ 40 ปีขึ้นไป
นางบุญฤทธิ์ เมืองไทย อายุ 57 ปี กับลูกสาวอายุ 25 ปี สองแม่ลูก ชาวบ้านบ้านหนองบัว ต.นาตาล่วง อ.เมือง จ.ตรัง ขับรถพ่วงข้างตระเวนไปเก็บใบไม้ไผ่ตง ซึ่งขึ้นเองตามธรรมชาติบริเวณแนวป่าข้างทาง ห่างจากบ้านพักประมาณ 10 กิโลเมตร เพื่อเลือกเก็บใบไผ่ที่ได้ขนาด ไม่เล็กไม่ใหญ่เกินไป นำมาแช่น้ำ ไม่ให้ใบไผ่ม้วนตัว และตัดหัวตัดท้าย ทิ้งไว้ 1 คืน เตรียมทำบะจ่างน้ำด่างออกขาย สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว
ส่วนประกอบของบะจ่างน้ำด่าง คือ ข้าวเหนียว น้ำด่าง และน้ำมันพืช โดยนำข้าวเหนียวนำมาผสมน้ำด่างและน้ำมันพืชเล็กน้อย แช่ทิ้งไว้ 1 คืน จึงสามารถตักข้าวเหนียวใส่ลงในใบไผ่ที่ทำเป็นกระทง เสร็จแล้วจึงพับเข้าหากันเป็นรูปสามเหลี่ยมเหมือนการทำบะจ่าง แล้วมัดด้วยเชือกฟาง จากนั้นจึงนำไปนึ่งทิ้งไว้ประมาณ 2 ชั่วโมง ก่อนจะนำออกขายได้ในราคามัดละ 10 บาท ซึ่งแต่ละมัดจะมีขนมบะจ่างน้ำด่างประมาณ 6-7 ลูก แถมด้วยน้ำตาลแดงหรือน้ำตาลปึก
สำหรับบะจ่างน้ำด่าง เป็นขนมพื้นบ้านแบบโบราณที่หากินได้ยากมากขึ้น เนื่องจากคนทำน้อยลง คนกินก็น้อยลง แต่ยังขายได้ในกลุ่มคนอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป และจะขายดีในช่วงงานประเพณีไหว้เจ้า งานศพ งานบวช และเทศกาลต่างๆ สามารถเก็บไว้ได้นาน 3-4 วัน ซึ่งแต่เดิมเป็นขนมกินเล่นยามว่าง มีรสจืด แต่ได้ความหวานจากน้ำตาลแดงมาช่วย ทำให้สดชื่นมากขึ้น โดยแต่ละวันจะต้องทำขนมบะจ่างน้ำด่างไม่ต่ำกว่า 400-500 ลูก สร้างรายได้ตั้งแต่ 300-400 บาทต่อวัน
นางบุญฤทธิ์ เมืองไทย แม่ค้าขายขนมบะจ่างน้ำด่างกล่าวว่า ตนทำบะจ่างประเภทจิ้มกับน้ำตาล ทำมานานไม่ต่ำกว่า 8 ปีแล้ว ถ้ามีงานก็ขายได้ตั้งแต่ 500 ลูกขึ้นไป แต่เมื่อก่อนขายดีกว่านี้ ช่วงที่ขายดีที่สุดคือช่วงที่มีงานเทศกาลทุกงาน ขายช่อละ 10 บาท ผลตอบรับดี ลูกค้าบอกว่าติดใจ อร่อย เพราะเหนียวนุ่มกว่า มีสั่งจองล่วงหน้าแต่ไม่มีเวลาส่งให้ ส่วนใบไผ่ก็ต้องออกไปหาเอง . – สำนักข่าวไทย