ตรัง 5 ก.ค. – เกษตรกรชาวอำเภอกันตัง จ.ตรัง ขานรับนโยบายการเลี้ยงปูหน้าขาว หรือปูทองหลาง ในบ่อกุ้งร้าง ขายได้ราคาดีกว่าปูดำ โตเร็วกว่า ทำได้หลากหลายเมนู เป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่
นายวรุฒม์ ธนากรเจริญ เปลี่ยนบ่อที่เคยเลี้ยงกุ้งกุลาดำ แต่ประสบปัญหาขาดทุน หันมาเลี้ยงปูหน้าขาว หรือปูทองหลางเป็นปีแรก บนเนื้อที่ 3 ไร่ ใน อ.กันตัง จ.ตรัง เนื่องจากปูหน้าขาวเป็นปูทะเลที่โตเร็ว ได้น้ำหนักและราคาดีกว่าปูดำและปูม้า เนื้อปูแน่น ก้ามโต ตัวใหญ่ รสชาติหวานมันกว่าเนื้อปูทะเลชนิดอื่น ตลาดยังมีความต้องการสูง
ก่อนหน้านี้เกษตรกรยังขาดความรู้ความเข้าใจ จึงปล่อยบ่อกุ้งให้เป็นบ่อร้างมานานหลายปี จนกระทั่งสำนักงานประมงจังหวัดได้จัดทำโครงการนำร่อง ชวนเกษตรกรในจังหวัดเข้าร่วมโครงการ 5 ราย รายละ 1 อำเภอ อำเภอละ 1 บ่อ บนเนื้อที่บ่อละ 3 ไร่
แต่ละบ่อจะปล่อยลูกปูครั้งแรกปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จำนวน 3,000 ตัว ปรากฏว่า 3 เดือนผ่านไป ปูหน้าขาวตัวผู้มีน้ำหนักตัวละ 5-6 ขีด ส่วนตัวเมียมีน้ำหนัก 3-4 ขีด เนื้อแน่น ก้ามใหญ่ มีลูกค้าสนใจสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก แต่ยังขายไม่ได้ เพราะต้องการทำน้ำหนักให้ได้ตัวละ 8 ขีด ถึง 1 กิโล ซึ่งต้องใช้เวลาเลี้ยงอีกประมาณ 45 วัน จึงจับขายได้ในราคากิโลกรัมละ 350-500 บาท หรือตัวละ 500 บาท หากเป็นตัวผู้
ส่วนอาหารของปู เป็นเนื้อปลาสด ช่วง 2 เดือนแรก ให้วันละ 2 เวลา เช้า-เย็น พอย่างเข้าเดือนที่ 3 ให้อาหารวันละ 1 ครั้ง ครั้งละ 30 กิโลกรัม ไม่ต้องตีน้ำให้ออกซิเจน ไม่ต้องวัดค่าความเค็มของน้ำ น้ำกร่อยก็สามารถเติบโตได้ดี ต้นทุนต่ำกว่าการเลี้ยงกุ้งกุลาดำมาก ลดความเสี่ยงและการลงทุนลงไปได้มาก นับว่าเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ใน จ.ตรัง ซึ่งศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงชายฝั่งตรัง สามารถเพาะขยายพันธุ์ลูกปูหน้าขาว เพื่อจำหน่ายให้กับเกษตรกรได้แล้ว ราคาตัวละ 3 บาท
ประมงจังหวัดตรัง กล่าวว่า จ.ตรัง ยังไม่เคยมีการเลี้ยงปูหน้าขาวหรือปูทองหลางมาก่อน ถือว่าเป็นครั้งแรก ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ เลี้ยงมา 3 เดือน ตัวผู้ได้น้ำหนักประมาณ 5-6 ขีด ตัวเมียประมาณ 3 ขีดกว่า ขณะที่ปูดำทั่วไปตัวจะตัวเล็กกว่าเมื่อใช้เวลาเลี้ยงเท่ากัน . – สำนักข่าวไทย