ขอนแก่น 8 ก.พ. – มหาวิทยาลัยขอนแก่น ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ กับสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย เพื่อเปิดโอกาสให้อาจารย์และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการเรียนการสอน การวิจัย รวมถึงสนับสนุนให้นักศึกษาเข้าร่วมฝึกงาน ฝึกประสบการณ์วิชาชีพ กับสมาชิกสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย อันจะเป็นประโยชน์ต่อตัวนักศึกษา และวงการสตาร์ทอัพไทยในอนาคต
วันนี้ รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.ดร.เพ็ญศรี เจริญวานิช คณบดีคณะบริหารธุรกิจและการบัญชี และ นายธนวิชญ์ ต้นกันยา กรรมการและประธานด้านสถานศึกษาสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่น กับสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย ได้เห็นชอบร่วมกันในการร่วมพัฒนาหลักสูตรทั้งในระดับปริญญาตรี ระดับบัณฑิตศึกษา หรือพัฒนาหลักสูตรและจัดโครงการบริการวิชาการ หลักสูตรระยะสั้น (non-degree programs) รวมไปถึงการจัดกิจกรรมร่วมกันเพื่อเปิดโอกาสให้อาจารย์และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการเรียนการสอน การวิจัย รวมถึงสนับสนุนให้นักศึกษาของมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้เข้าร่วมฝึกงาน ฝึกประสบการณ์วิชาชีพ กับสมาชิกสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย อันจะเป็นประโยชน์ต่อตัวนักศึกษา และวงการสตาร์ทอัพไทยในอนาคต
ทั้งนี้ สำหรับสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย (Thai Startup) ก่อตั้งแล้วกว่า 8 ปี มีสมาชิกเป็นสตาร์ทอัพรายน้อยใหญ่กว่า 100 ราย และทำหน้าที่ในการผลักดัน ส่งเสริม รวมถึงเป็นตัวกลางเชื่อมต่อให้สตาร์ทอัพไทยได้เติบโต เฉิดฉายได้ในระดับสากลโดยวัตถุประสงค์ของสมาคม ประกอบไปด้วย 1.Community (สร้างคอมมูนิตี้ ผลักดันให้เกิด Startup Ecosystem ที่แข็งแรงการสร้างคอมมูนิตี้และคอนเนคชั่นระหว่างธุรกิจสตาร์ทอัพด้วยกัน และการสร้างคอนเนคชั่นในการต่อยอดธุรกิจกับอุตสาหกรรมต่งๆทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงกลุ่มนักลงทุน เป็นส่วนสำคัญในการช่วยให้สตาร์ทอัพเติบโตอย่างมั่นคงได้ยิ่งขึ้น รวมไปถึงการจัดโครงการต่างๆ ที่ผลักดันให้ประเทศไทยมีสตาร์ทอัพใหม่ๆเกิดขึ้นได้ 2.Growth (ทำให้โต) ช่วยเหลือให้สตาร์ทอัพไทยในปัจจุบันเติบโตได้ไวขึ้น โดยนอกจากการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจผ่านการเชื่อมโยงพาร์ทเนอร์ทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังต้องทำให้สตาร์ทอัพในไทยเป็นที่รู้จักและน่าดึงดูดสำหรับต่างประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดและการลงทุนโดยนักลงทุนต่างชาติด้วย 3.Support (ทำให้ง่าย) ช่วยเหลือและให้คำปรึกษาการทำธุรกิจสตาร์ทอัพผ่านโครงการ mentoring ที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ สำหรับสมาชิก รวมไปถึงการเชื่อมโยงบริการต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือในการจัดหาพื้นที่ออฟฟิศ การปรึกษาทางธุรกิจ การซื้อบริการต่างๆ ในราคาที่ถูกลงกับบริษัทที่เป็นพาร์ทเนอร์กับสมาคม. -สำนักข่าวไทย