ภูมิภาค 22 ต.ค. – แพทย์-พยาบาล ตระเวนเดินเท้ารักษาประชาชนตามศูนย์อพยพชั่วคราวในเขตเทศบาลเมืองวารินชำราบ พบส่วนใหญ่ป่วยจากโรคน้ำกัดเท้า และพบเสียชีวิตจากโรคฉี่หนูแล้ว 1 ราย
น้ำท่วมอุบลราชธานีมีสัญญาณดีขึ้น แม่น้ำมูลปรับตัวลดลง แต่ยังมีน้ำล้นตลิ่งสูงประมาณ 4 เมตร ทีมแพทย์ พยาบาล โรงพยาบาลค่ายสรรพสิทธิประสงค์ ตระเวนเดินเท้ารักษาประชาชนตามศูนย์อพยพชั่วคราวในเขตเทศบาลเมืองวารินชำราบ ซึ่งมีประชาชนหนีน้ำมาพักอาศัยอยู่กว่า 7,000 คน จาก 14 ชุมชน
ส่วนใหญ่มีอาการป่วยจากโรคน้ำกัดเท้า อีกส่วนบาดเจ็บจากการเคลื่อนย้ายข้าวของในศูนย์อพยพ ปีนี้แต่ละครอบครัวอพยพหนีน้ำไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง เพราะระดับน้ำท่วมสูงกว่าทุกปีที่ผ่านมา ทำให้มีบาดแผลตามร่างกาย จึงให้การรักษาและให้คำแนะนำวิธีการดูแลตนเอง ไม่ควรเดินเท้าเปล่าไปลุยน้ำ เพราะมีโรคระบาดมากับน้ำท่วมหลายโรค และสัตว์มีพิษกัดต่อยได้
สาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานีรายงานสถิติตัวเลขมีผู้ติดเชื้อโรคเลปโตสไปโรซิส หรือฉี่หนู 2 คน เสียชีวิต 1 คน เป็นชายชาว อ.วารินชำราบ อายุ 40 ปีเศษ มีประวัติเดินสัมผัสน้ำท่วม เมื่อมีอาการป่วยไม่รีบเข้ารับการรักษา รวมทั้งมีสภาพร่างกายอ่อนแอ เนื่องจากติดสุรา
สำหรับโรคไข้ดิน หรือเมลิออยด์ ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียจากการสัมผัสดิน การเดินลุยน้ำเป็นเวลานานโดยไม่สวมรองเท้าบูทป้องกันและไม่รีบทำความสะอาดเมื่อขึ้นจากน้ำ ขณะนี้ยังไม่พบผู้ป่วยโรคนี้ แต่มีการเฝ้าระวังประชาสัมพันธ์ในกลุ่มประชาชนที่อพยพหนีน้ำ เพราะสามารถติดเชื้อได้เช่นเดียวกับโรคฉี่หนู ด้วยการสัมผัสดินและน้ำที่มีเชื้อนี้ปนเปื้อนอยู่ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว ทั้งเบาหวาน ภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคไต และธาลัสซีเมีย ควรต้องป้องกันตัวเป็นพิเศษ เมื่อมีไข้สูงเกิน 3 วัน หรือมีแผลฝีหนองตามร่างกาย ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อลดโอกาสการเสียชีวิตจากโรคนี้
ชาวอ่างทองขอให้กรมชลฯ ค่อยๆ ปล่อยน้ำ
ภาพมุมสูงบริเวณคลองบางตาแผ่น หรือคลองโพะสะ อ.เมือง จ.อ่างทอง ซึ่งเป็นคลองที่รับน้ำจากทุ่งลำท่าแดง ปริมาณน้ำยังคงแรงและขยายวงกว้างต่อเนื่องจนล้นประตูระบายน้ำมานานกว่า 5 วันแล้ว ส่งผลกระทบชุมชนริมสองฝั่งคลอง ทั้งในชุมชนเขตเทศบาลเมืองอ่างทอง รวมถึงพื้นที่ใน อ.วิเศษชัยชาญ และ อ.ป่าโมก ก่อนจะไหลข้ามไปสมทบกับพื้นที่ อ.บางบาล และ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีน้ำท่วมสูงอยู่แล้ว
ขณะที่ระดับน้ำที่ล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรในพื้นที่ โดยเฉพาะบ้านเรือนที่เป็นชุนชนขนาดใหญ่ เช่น ชุมชนชัยมงคล 2 เขตเทศบาลเมืองอ่างทอง ส่วนใหญ่เป็นบ้านชั้นเดียว สูงกว่า 1.5 เมตร ทำให้ได้รับผลกระทบอย่างหนักจนไม่สามารถอาศัยอยู่ในบ้านได้ ต้องทิ้งออกไปอยู่ด้านนอก บางรายที่ไม่มีที่ไปต้องพยายามกั้นน้ำไม่ให้เข้าภายนบ้านที่หนุนทรัพยสินไว้สูงท่วมหัว
ชาวบ้านบอกว่าแม้จะสู้กับน้ำมาตลอดและสามารถยืนหยัดหากน้ำอยู่ระดับปี 2554 แต่แรงดันน้ำที่มหาศาลทำให้ทะลุแนวถนนด้านล่างจนระเบิดเป็นทางยาวหลายสิบเมตร ชาวบ้านบอกว่าหากค่อยๆ ปล่อยมาก็สามารถสู้ไหว แต่หากปล่อยมาขนาดนี้ก็ไม่ไหว
สถานการณ์ล่าสุดเขื่อนเจ้าพระยาที่ จ.ชัยนาท ลดการระบายน้ำลงต่อเนื่อง ขณะนี้ระบายน้ำอยู่ที่ 2,702 ลบ.ม./วินาที .-สำนักข่าวไทย