อุบลราชธานี 9 ต.ค. –แม่น้ำมูลเริ่มไหลท่วมพื้นที่เศรษฐกิจอุบลราชธานี ส่วนที่ จ.พิจิตร ยังอ่วม บางจุดท่วมสูงกว่า 3 เมตร เช่นเดียวกับที่ จ.เพชรบูรณ์ แม่น้ำป่าสักทะลักท่วมนาข้าวกว่า 100 ไร่ จมบาดาล ถนนถูกกัดเซาะขาดเป็นแนวยาว ขณะที่ จ.นนทบุรี ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติอุทกภัย 7 ตำบล ด้านเจ้าอาวาสวัดแหลมเขาจันทร์ จ.ฉะเชิงเทรา ไม่นิ่งดูดาย ลุยน้ำแจกถุงยังชีพ ชาวบ้านดีใจพระมาโปรด
แม่น้ำมูลเริ่มไหลท่วมถนนบูรพาใน ถนนพิชิตรังสรรค์ เทศบาลนครอุบลราชธานี น้ำท่วมสูงประมาณ 20 เซนติเมตร ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ชุมชนบ้านดู่ ชุมชนบูรพา ต้องอพยพทรัพย์สินหนีน้ำไปไว้ตามบ้านญาติ ถนนสายนี้ ถือเป็นย่านเศรษฐกิจชานเมือง มีตลาดสด ธนาคาร โรงแรมระดับ 4 ดาว โรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ แหล่งบันเทิงจำนวนมากตั้งอยู่ ชาวบ้านบอกว่า สาเหตุที่น้ำท่วมสูงกว่าหลายปี ส่วนหนึ่งมาจากการจัดการของภาครัฐที่ช้าเกินไป อาจเป็นเพราะช่วงรอยต่อเปลี่ยนแปลงผู้ว่าราชการจังหวัด ทำให้ไม่มีแผนเตรียมรับน้ำที่ดี เมื่อมีพายุเข้ามาเติม น้ำที่ท่วมอยู่แล้วสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนความช่วยเหลือปีนี้ก็เงียบมาก ไม่เหมือนปี 2562 ที่มีการระดมช่วยเหลือ อาจเพราะมีน้ำท่วมหลายจังหวัดพร้อมกัน
น้ำท่วมพิจิตรยังไม่คลี่คลาย บางจุดสูงกว่า 3 เมตร
สถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.พิจิตร ยังคงไม่คลี่คลาย ปริมาณน้ำสะสมทั้งน้ำป่าจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ และน้ำจากแม่น้ำน่าน มีความสูงเท่ากัน และมวลน้ำมีปริมาณมาก ทำให้การระบายน้ำไม่สามารถทำได้ เกิดน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้างในอำเภอบางมูลนาก จ.พิจิตร น้ำล้อมหมู่บ้าน ท่วมถนนเส้นทางเข้าสูงกว่า 3 เมตร รถทุกชนิดไม่สามารถเดินทางเข้าไปในหมู่บ้านได้ ต้องใช้เรือสัญจรเพียงอย่างเดียว ออกไปซื้ออาหารยากลำบาก
แม่น้ำป่าสัก ท่วมนาข้าวกว่า 100 ไร่
ที่ จ.เพชรบูรณ์ ถนนคอนกรีตเสริมเหล็กริมแม่น้ำป่าสัก เส้นทางเชื่อมต่อระหว่างหมู่ที่ 1 กับหมู่ที่ อ.เมืองเพชรบูรณ์ ถูกกระแสน้ำในแม่น้ำป่าสักกัดเซาะจนขาดเป็นแนวยาวกว่า 10 เมตร ไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร นาข้าวที่กำลังตั้งท้องใกล้จมอยู่ใต้น้ำกว่า 100 ไร่
ชาวบ้านเปิดเผยว่า ไม่เคยเห็นน้ำในแม่น้ำป่าสักมากขนาดนี้มาก่อน ล้นถนนคอนกรีต กัดเซาะใต้พื้นถนน จนถนนทรุดตัว เจ้าหน้าที่และชาวบ้านช่วยกันป้องกันและแก้ไขมา 6 วันแล้ว แต่ด้วยกระแสน้ำที่มากและรุนแรง ทำให้ไม่สามารถป้องกันได้ กระทั่งประมาณเที่ยงคืนที่ผ่านมา ถนนถูกน้ำกัดเซาะกว้างขึ้นเรื่อยๆ กว่า 10 เมตรแล้ว
เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำเพิ่ม 3,048 ลบ.ม./วินาที
เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ระบายน้ำเพิ่มเป็น 3,048 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ตั้งแต่เมื่อช่วง 1 ทุ่ม เมื่อวานนี้ ทำให้สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ อ.สรรพยา ขยายวงกว้างและท่วมสูงมากขึ้น มีน้ำล้นตลิ่งท่วมหมู่บ้านเพิ่มขึ้นหลายจุด เช่น ที่หมู่ 2 ต.ตลุก อ.สรรพยา น้ำล้นตลิ่งไหลข้ามถนน หลากเข้าท่วมหมู่บ้านอย่างต่อเนื่อง ชาวบ้านต้องรีบเก็บของขึ้นที่สูง ขนย้ายสิ่งของบางส่วน และนำสุนัขเดินลุยน้ำ หนีออกไปอยู่ริมถนนคลองมหาราช
นนทบุรี ประกาศพื้นที่ภัยพิบัติอุทกภัย 7 ตำบล
นายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าจังหวัดนนทบุรี ประกาศให้ 7 ตำบล อ.ปากเกร็ด เป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย/เขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน( อุทกภัย ) รวมทั้งตำบลเกาะเกร็ด หมู่ที่ 1 ถึงหมู่ที่ 6 โดยให้ชาวบ้านคอยเฝ้าระวังเนื่องจากระดับน้ำจะมีปริมาณสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า ระดับน้ำในตำบลเกาะ หมู่ 5 และ 6 บริเวณพื้นถนน ระดับน้ำสูง 40-50 ซม. ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำ ระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร ทำให้ชาวบ้านที่อยู่ในตำบลเกาะเกร็ด เดือดร้อน สัญจรลำบาก ต้องใช้เรือพาย ส่วนร้านค้าที่เคยเปิดขาย ตอนนี้ได้ปิดตัวลงเกือบทั้งหมด ต้องหนุนข้าวของขึ้นที่สูง บางรายต้องปล่อยข้าวของเครื่องใช้จมอยู่ใต้น้ำ เนื่องจากน้ำมีปริมาณสูง และไหลอย่างรวดเร็วทำให้ที่ย้ายของไม่ทัน
พระมาโปรด เจ้าอาวาสลุยน้ำแจกถุงยังชีพชาวบ้าน
ส่วนที่ จ.ฉะเชิงเทรา พระปลัดอาทร สายทอง เจ้าอาวาสวัดแหลมเขาจันทร์ หรือท่าไม้แดง ได้ร่วมกับคณะสงฆ์ ลูกศิษย์ อำเภอพนมสารคาม และอำเภอสนามชัยเขต ร่วมกันเป็นตัวแทนผู้มีจิตศรัทธาเมตตาร่วมถวายข้าวสารอาหารแห้ง น้ำดื่ม จัดทำเป็นถุงยังชีพ โดยในวันนี้ได้ลงพื้นที่ตำบลเกาะขนุน และตำบลท่าถ่าน อำเภอพนมสารคาม ลุยส่งมอบถุงยังชีพให้ญาติโยมกว่า 500 หลังคาเรือน ตั้งแต่ช่วงเช้า
หลังจากพักฉันเพลเสร็จก็ลุยต่อทั้งแบบเดินท่องน้ำ ลงเรือ ทั้งแบก หาม กระทั่งช่วงเย็น พระอาจารย์ปลัดอาทร ตะโกนบอกคณะว่า พบรักแท้แล้ว ถูกปลิงกัด ดูดจนเลือดแดง แต่สักพักก็ลุยต่อไปยังพื้นที่ชุมชนตำบลท่าถ่าน ชุมชนท้ายบ้านเจ๊เล็กที่ระดับน้ำท่วมสูงมาก เพราะอยู่ติดริมคลองท่าลาด การนำมอบสร้างรอยยิ้มทั้งผู้ให้และผู้รับ ชาวบ้าน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ส.อบต.ในแต่ละชุมชนต่างรู้สึกดีใจที่พระมาโปรด เพราะกว่า 1 สัปดาห์ แม้จะมีนายก อบต.เกาะขนุน หน่วยงานต่างๆ มาช่วย แต่นี่ก็เป็นครั้งแรกที่มีพระมา
กรมอุตุฯ ออกประกาศเตือนอากาศแปรปรวน
ด้านกรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศฉบับที่ 2 เมื่อช่วงตี 5 ที่ผ่านมา “อากาศแปรปรวนบริเวณประทศไทยตอนบนและฝนตกหนักบริเวณภาคใต้” ในช่วงวันที่ 9-14 ตุลาคม 2565 บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และฝนตกหนักบางแห่งเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 9-11 ตุลาคม 2565 หลังจากนั้นอุณหภูมิจะลดลงกับมีลมแรง โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนืออุณหภูมิจะลดลง 3-5 องศาเซลเซียส ส่วนภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก อุณหภูมิจะลดลง 1-3 องศาเซลเซียส ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากสภาพอากาศแปรปรวนที่มีฝนตกหนัก ลมกระโชกแรง และอุณหภูมิลดลง รวมถึงดูแลสุขภาพไว้ด้วย สำหรับลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในช่วงวันที่ 9-11 ตุลาคม 2565
จังหวัดที่คาดว่าจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
วันที่ 9 ตุลาคม 2565
ภาคเหนือ: จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ภาคตะวันออก: จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
วันที่ 10 ตุลาคม 2565
ภาคเหนือ: จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย กำแพงเพชร พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: จังหวัดนครราชสีมา และบุรีรัมย์
ภาคกลาง: จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ภาคตะวันออก: จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา และภูเก็ต
วันที่ 11 ตุลาคม 2565
ภาคใต้: จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช
ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น โดยมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังในช่วงวันที่ 9 -14 ตุลาคม 2565 . – สำนักข่าวไทย