เลย 12 ก.ย. – ตั้งแต่ช่วง 14.00 น. ที่ผ่านมา มีฝนตกลงมาในพื้นที่จังหวัดเลยอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วมกังวลว่า น้ำจะท่วมขังนานขึ้นอีก ติดตามสถานการณ์ล่าสุดจากพื้นที่ตำบลชัยพฤกษ์ อำเภอเมืองเลย
จากอิทธิพลของร่องมรสุมพาดผ่าน ทำให้มีฝนตกโปรยปรายลงมาเป็นระยะ โดยเฉพาะช่วง 14.00 น. ที่ผ่านมา ซ้ำเติมสถานการณ์ในจุดที่น้ำท่วมอยู่แล้ว ทั้ง 9 ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองเลย และหมู่บ้านตามริมฝั่งแม่น้ำเลยในตำบลรอบนอก
เช่นเดียวกับบ้านนาบอน หมู่ 11 เป็นจุดที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด เพราะอยู่จุดลุ่มต่ำสุดที่ตั้งอยู่ติดแม่น้ำเลย ทางด้านทิศตะวันตก และยังถูกขนาบด้วยภูเหล็กและภูบ่อบิด ทางทิศตะวันออก ซึ่งมีน้ำป่าไหลหลากลงมา จุดนี้เป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากทุกปี ปีนี้แม้จะยังไม่ท่วมหนักมาก แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปคือ น้ำลดช้า เนื่องจากมีมวลน้ำจากฝนมาเติม คนป่วยและผู้สูงอายุส่วนใหญ่ถูกย้ายไปอยู่กับญาติยังจุดที่สูงพ้นน้ำ มีประชาชนได้รับความเดือดร้อน ทั้งบ้านถูกน้ำท่วม และถูกน้ำล้อมรอบติดเกาะ รวมกว่า 100 หลังคาเรือน ประชากรเกือบ 500 คน
นายชัยธวัช เนียมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เดินสายเยี่ยมปลอบขวัญผู้ประสบภัยตลอดทั้งวัน เน้นให้ผู้ประสบภัย อยู่ได้ กินได้ จึงต้องระดมทำข้าวกล่องแจกจ่ายให้เพียงพอ ช่วงบ่าย มีฝนตกลงมา อาจทำให้สถานการณ์คลี่คลายได้ช้าขึ้น ขณะที่ผู้ประสบภัย บางคนปรับตัวด้วยการไปเช่าบ้านสำรองไว้ และอาศัยได้ค้าขายไปด้วย พร้อมฝากหน่วยงานราชการให้เพิ่มค่าเยียวยาให้สอดคล้องกับทรัพย์สินที่เสียหาย หลังปีที่แล้วบ้านและทรัพย์สินเสียหายมูลค่ากว่า 30,000 บาท แต่ได้รับเงินชดเชยเพียง 500 บาท
นายเริงชัย รักอยู่ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานจังหวัดเลย ให้ข้อมูลว่า ระดับตลิ่งแม่น้ำเลยอยู่ที่ 9 เมตร ระดับน้ำเลยตอนนี้ 9 เมตร 83 เซนติเมตร ลดลงจากระดับสูงสุดเมื่อวาน 47 เซนติเมตร โดยระดับวิกฤติอยู่ที่ 11 เมตร หากดูเฉพาะระดับน้ำที่ล้นตลิ่ง โดยไม่มีฝนเข้ามาเกี่ยวข้อง จะใช้เวลาไม่เกิน 3 วัน แม่น้ำเลยจะเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะที่ลำคลองสาขาดีขึ้นตามลำดับ หลังน้ำทยอยลดระดับ
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในภาพรวมทั้งจังหวัด มีพื้นที่ประสบภัย 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง วังสะพุง นาด้วง เชียงคาน ท่าลี่ และเอราวัณ รวม 49 หมู่บ้าน เกือบ 3,000 ครัวเรือน โดยอำเภอเมืองได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างที่สุด 36 หมู่บ้านใน 6 ตำบล
สำหรับแม่น้ำเลย ต้นน้ำอยู่อำเภอภูหลวง ไหลผ่านอำเภอวังสะพุง อำเภอเมือง และไหลลงแม่น้ำโขงที่อำเภอเชียงคาน ซึ่งยอดน้ำจากพื้นที่อำเภอเมืองได้ไหลไปท่วมพื้นที่อำเภอเชียงคานบางส่วนแล้ว โดยช่วงท้ายแม่น้ำ น้ำไหลได้ช้าบ้าง จากปัญหาสโลบลำน้ำ แต่ไม่ถึงกับเป็นอุปสรรค เพราะแม่น้ำโขงต่ำกว่าตลิ่งถึง 9 เมตร รองรับการระบายได้เป็นอย่างดี .-สำนักข่าวไทย