มหาสารคาม 8 ก.ย. – พบโครงกระดูกมนุษย์ ไห กำไลสำริด อายุราวก่อนยุคพุทธกาล ประมาณ 1,500 ปี ในพื้นที่ ต.เขวาไร่ อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม สันนิษฐานแหล่งที่พบโบราณคดีเป็นแหล่งฝังศพในวัฒนธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย
เจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากรตรวจสอบไหโบราณ และวัตถุโบราณ กำไลสำริด หินดุดินเผา ที่ขุดพบในตำบลเขวาไร่ อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม เป็นชิ้นส่วนภาชนะดินเผาเนื้อดินธรรมดา 214 ชิ้น ทั้งส่วนปากและลำตัว ส่วนใหญ่เป็นภาชนะดินเผาผิวเรียบ ไม่มีการตกแต่งลวดลาย บางชิ้นพบว่ามีการรมดำ ตกแต่งลายกดประทับเชือกทาบ และทาน้ำดินสีแดงร่วมด้วย สันนิษฐานว่ามีอายุอยู่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย หรือประมาณ 2,500-1,500 ปีมาแล้ว ชิ้นส่วนเบ้าหลอมโลหะดินเผาลักษณะคล้ายถ้วยก้นกลม
นอกจากนี้ บริเวณที่พักสงฆ์เกาะโนนข่าในเขตอ่างเก็บน้ำห้วยค้อ ยังพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ ที่ระดับความลึกจากพื้นดินประมาณ 3 เมตร หันศีรษะไปทางทิศเหนือ ความสูงประมาณ 159 เซนติเมตร พระสุรัตน เขตชมภู เจ้าสำนักสงฆ์โนนข่า ได้เก็บชิ้นส่วนโครงกระดูก มนุษย์บางส่วนขึ้นมา ห่างออกไปพบหม้อดินเผาเนื้อดินอีก 2 ใบ เศษภาชนะดินเผา เมื่อนำมาประกอบได้แป็นภาชนะดินเผาทรงชามขนาดเล็ก กว้าง 13 เซนติเมตร สูง 5 เซนติเมตร หนา 0.5 เซนติเมตร ผิวเรียบไม่มีการตกแต่ง มีร่องรอยของสีดำ คาดว่ามีอายุอยู่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย หรือราว 2,500-1,500 ปีมาแล้ว สันนิษฐานว่าแหล่งโบราณคดีที่พักสงฆ์เกาะโนนข่ามีการใช้งานพื้นที่เป็นแหล่งฝังศพในวัฒนธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย
เจ้าหน้าที่แนะนำในอนาคตควรมีการศึกษาทางวิชาการโบราณคดีอย่างเป็นระบบ และหาว่ามีแหล่งโบราณคดีในพื้นที่ใกล้เคียงเพิ่มเติมหรือไม่ เพื่อดำเนินการขุดตรวจทางโบราณคดีในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากพบหลักฐานทางโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์หนาแน่น เพื่อประกอบการศึกษา และตรวจสอบวางแนวทางการเก็บรักษาต่อไปไว้ที่พักสงฆ์เกาะโนนข่าต่อไป. -สำนักข่าวไทย