ทำเนียบ 17 ส.ค.-นายกฯ ประชุมบอร์ดบีโอไอ ย้ำ ปรับหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ ดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศ
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลัง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ครั้งที่ 4/2565 ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เร้นท์ โดยมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
โดยนายกรัฐมนตรี ขอให้กรรมการทุกคนช่วยกันพิจารณา ทั้งเรื่องเชิงนโยบายและการขอรับการส่งเสริมการลงทุน เพื่อร่วมกันดำเนินการในเรื่องที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน พร้อมกล่าวถึงการดำเนินการส่งเสริมการลงทุนในประเทศมีความก้าวหน้าตามลำดับ เน้นย้ำต้องเร่งดำเนินการในเรื่องการลงทุนในสิ่งใหม่ๆ และเทคโนโลยีใหม่ให้เกิดขึ้น ควบคู่กับการศึกษาข้อมูลการดำเนินการการส่งเสริมการลงทุนของประเทศต่างๆ รวมถึงในกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงวิธีการ แนวทางการดำเนินงาน และหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์การส่งเสริมการลงทุนที่ให้เหมาะสมกับประเทศไทย และให้สามารถสร้างแรงจูงใจดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศได้มากขึ้น ซึ่งขณะนี้มีนักลงทุนหลายประเทศที่ให้ความสนใจที่จะมาลงทุนในประเทศไทย ดังนั้นต้องมีการปรับหลักเกณฑ์ให้เหมาะสม ชัดเจน ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ประเทศและประชาชนจะได้รับ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการลงทุนที่มุ่งเน้นเรื่องของเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ที่จำเป็นในการสร้างความเข้มแข็ง นำไปสู่การพัฒนาประเทศในอนาคต และให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถแข่งขันได้กับต่างประเทศ ตลอดจนการดำเนินการเรื่องสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับการขับเคลื่อน BCG ตามนโยบายรัฐบาล เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมายที่กำหนดตามที่ได้ประกาศไว้
“นายกรัฐมนตรี ต้องการให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบาย 30@30 คือ การตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือ รถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573 ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะนำพาประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ ในอนาคตแบบเต็มรูปแบบ ซึ่งขณะนี้มีนักลงทุนหลายประเทศให้ความสนใจที่จะมาลงทุนในประเทศไทย ดังนั้นทุกฝ่ายต้องช่วยกันหาแนวทาง วิธีการ หรือการให้สิทธิประโยชน์ที่เหมาะสม เพื่อสามารถจูงใจและดึงดูดนักลงทุนมาลงทุนในประเทศไทยด้วย รวมทั้งต้องมีการเตรียมความพร้อมด้านพลังงานของประเทศให้เพียงพอรองรับการดำเนินการดังกล่าวด้วย” นายธนกร กล่าว
นายธนกร กล่าวว่า นายกรัฐมนตรียังให้ข้อเสนอแนะให้ทำข้อมูลตัวเลขเกี่ยวกับการส่งเสริมการลงทุนต่างๆ ให้ชัดเจนเป็นระบบ เพื่อสามารถนำข้อมูลมาประกอการพิจารณาในการบริหารงานและการดำเนินการส่งเสริมการลงทุนโครงการต่าง ๆ ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งเพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน ได้รับทราบถึงผลประโยชนที่ได้รับจากการส่งเสริมการลงทุนที่เกิดขึ้นในประเทศไทย.-สำนักข่าวไทย.