รัฐสภา 30 มิ.ย.-“ชัชชาติ” เผย สัปดาห์หน้า มีความคืบหน้าราคารถไฟฟ้าสายสีเขียว ย้ำมาตรการระยะสั้น ต้องเก็บค่าโดยสารชดเชยเงินที่เสียไป ยันให้ความร่วมมือ กมธ.คมนาคม
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์ภายหลังชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ถึงปัญหาราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าว่า สัปดาห์หน้าจะมีความคืบหน้าการพิจารณาราคาค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสายสีเขียว ขณะนี้รอความเห็นจากนายธงทอง จันทรางศุ ประธานบริษัทกรุงเทพธนาคมจำกัด ซึ่งจะมีการประชุมบอร์ดร่วมกันในวันที่ 2 กรกฎาคมนี้ อีกทั้งยังต้องขอความเห็นจากคณะกรรมาธิการคมนาคมของสภาผู้แทนราษฎรด้วย เพราะยังมีรถไฟฟ้าสายอื่นที่ยังอยู่ในความดูแลของรัฐบาล ที่ต้องพิจารณาไปพร้อมกัน หากกรรมาธิการมีความเห็นก็ยินดีและพร้อมรับฟัง เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของตัวเลขและข้อมูล หากดำเนินการอย่างโปร่งใสและพูดความจริงก็จะไม่มีปัญหา ส่วนตัวพร้อมชี้แจงตามความเป็นจริงว่า ราคาที่ตั้งไว้ตลอดสาย 59 บาท มีที่มาอย่างไร มีกำไร ขาดทุนเท่าไร
“สำหรับปัญหาของสายสีเขียว อยู่ที่การเดินรถ ระยะยาว ตามสัญญาหลังปี 2572 ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร เพราะมีการขยายสัมปทานไปล่วงหน้าแล้ว ส่วนราคา 59 บาทที่ตั้งไว้ เป็นมาตรการระยะสั้น เพื่อคิดค่าบริการ ส่วนต่อขยาย ที่ปัจจุบันให้บริการฟรีอยู่ จึงต้องนำเงินส่วนนี้มาชดเชยบ้าง” นายชัชชาติ กล่าว
นายชัชชาติ กล่าวว่า ได้ยืนยันกับกรรมาธิการฯ ว่าตนเองให้ความสำคัญกับงานของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อได้รับหนังสือเชิญ ก็รีบตอบรับทันที พร้อมย้ำต่อ กรรมาธิการฯ ว่า เรื่องคมนาคม เป็น 1 ใน 9 ด้าน ของนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ โดยจะเริ่มจาก การปรับปรุงทางเท้า ถนนแคบ รถติดขัด ขณะเดียวกันกำลังจะพิจารณาว่าจะสามารถ โอนย้ายตำรวจจราจร มาอยู่ในสังกัด กทม.ได้หรือไม่ รวมทั้งการเดินรถของ ขสมก. ซึ่งบ่อยครั้งเกิดปัญหา รถไม่เพียงพอ ซึ่งทาง กทม. จะเสริมเที่ยวเดินรถให้ในบางเส้นทางที่มีผู้ใช้บริการมาก และชั่วโมงเร่งด่วน ขณะเดียวกัน จะเพิ่มเรื่องการดูแลผู้พิการให้มากขึ้น
นายชัชชาติ กล่าวว่า ขณะเดียวกันกำลังพิจารณาการคมนาคมทางน้ำเพิ่มขึ้น เช่น คลองลาดพร้าว คลองภาษีเจริญ คลองบางมด ที่มีจุดเชื่อมต่อกับการคมนาคมรูปแบบอื่น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน รวมทั้งสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวได้อีกด้วย
ด้านนายโสภณ ซารัมย์ ประธานคณะกรรมการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า คณะกรรมาธิการฯ เห็นว่าในช่วงวิกฤตของประเทศขณะนี้ อยากเห็นกรุงเทพฯ ได้รับการพัฒนา และในฐานะที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ อยากทำงานร่วมกับผู้ว่าฯ กทม. โดยเอกซเรย์ปัญหาที่เกิดขึ้นจากกฎระเบียบต่าง ๆ และเป็นอุปสรรคในการทำงานของ กทม. จึงจะตั้งอนุกรรมาธิการร่วมกัน โดยให้ทาง กทม.ส่งคนมาร่วม เพื่อศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนและเป็นระบบ
ด้านนายชัชชาติ กล่าวว่า ขอบคุณกรรมาธิการฯ และเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะการทำงานของ กทม. ต้องประสานกับหลายหน่วยงาน รวมทั้งรัฐบาล เพราะหลายเรื่องไม่ได้อยู่ในอำนาจของ กทม. ทั้งเรื่องการจราจรการเดินทางต่าง ๆ รวมทั้งกฎหมายต่าง ๆ ควรต้องมีการปรับแก้ให้ทันสมัยตอบโจทย์ของประชาชนชาวกรุงเทพฯ ได้แล้ว เชื่อว่าสุดท้ายประโยชน์เกิดขึ้นกับประชาชน เพราะจะสามารถแก้ไขปัญหาได้.-สำนักข่าวไทย