จ.ระยอง 16 มิ.ย.-ผบ.ทสส.ตรวจเยี่ยมการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 65 ย้ำช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม บรรเทาภัยพิบัติ ฝึกขจัดมลพิษทางน้ำจากน้ำมันในทะเลตามแนวคิด “From The Sea” วอนปชช.เชื่อมั่นเหล่าทัพพร้อมดูแลทุกสถานการณ์
พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ตรวจเยี่ยมและสังเกตการณ์การบูรณาการร่วมระหว่างการฝึกกองทัพเรือประจำปี 2565 กับการฝึกปฏิบัติการร่วมศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ประจำปี 2565 โดยมีพล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และพล.ร.อ.ธีรกุล กาญจนะ รองผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะผู้อำนวยการการฝึกกองทัพเรือ ประจำปี 2565 ให้การต้อนรับ
ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและคณะผู้แทนหน่วยที่เข้าร่วมฝึก เยี่ยมชมการฝึกขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันในทะเล (Oil Spill) และการฝึกค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเล (Sea SAR) ร่วมกับหน่วยงานในศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พร้อมทั้งตรวจเยี่ยมศูนย์บัญชาการในทะเล และโรงพยาบาลสนามบนเรือหลวงอ่างทอง จากนั้นตรวจเยี่ยมการฝึกให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ ประกอบด้วย ชุดปฏิบัติการเคมี ชีวภาพและรังสี ที่ท่าเรืออ่าวกลาง ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์บนบก (ICC) ภายในสนามฟุตบอล อบจ. ระยอง
สำหรับการฝึกในปีนี้ กองทัพเรือกำหนดจัดการฝึกปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ (HADR) และการฝึกขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันในทะเล (Oil Spill) ด้วยกำลังทางเรือตามแนวคิด From The Sea การค้นหา และช่วยชีวิตในพื้นที่การรบทางทะเล (Combat Sea SAR) โดยเป็นการบูรณาการความร่วมมือและการระดมสรรพกำลังจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กองทัพเรือ กรมเจ้าท่า กรมประมง กรมศุลกากร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กองบังคับการตำรวจน้ำ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ร่วมกับ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดระยอง บริษัทเอกชน หน่วยกู้ภัย และสมาคมอนุรักษ์สภาพแวดล้อมของกลุ่มอุตสาหกรรมน้ำมัน
ปัจจุบันศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลนับเป็นหน่วยงานหลักและเป็นกลไกสำคัญของรัฐบาลและรับผิดชอบการดำเนินการที่มีเอกภาพ สามารถบูรณาการการปฏิบัติงานในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลให้มีความมั่นคงและยั่งยืน ทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร ในเขตทางทะเลที่มีลักษณะที่หลากหลาย ประเทศไทยมีอำนาจอธิปไตยหรือสิทธิอธิปไตย รวมทั้งสิทธิหน้าที่อื่นตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีพันธกรณีจะต้องปฏิบัติตาม เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลที่มีอยู่อย่างมากมายด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านทรัพยากร สิ่งแวดล้อม และด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของชาติทางทะเล มีนายกรัฐมนตรี เป็นผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ผอ.ศรชล.) ปัจจุบันมีภารกิจหลักป้องกันภัย 9 ด้าน ประกอบด้วย 1.การช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล 2.การทำประมงผิดกฎหมาย 3.การค้ามนุษย์ การลักลอบเข้าเมือง 4.ยาเสพติด สินค้าผิดกฎหมาย อาวุธสงคราม 5.การทำลายสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง 6.การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 7.โจรสลัด การปล้นเรือ 8.การก่อการร้าย 9.การขนส่งสินค้าสองวัตถุประสงค์
พล.อ.เฉลิมพล กล่าวว่า เป็นการฝึกเรื่องความมั่นคง การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ ถือเป็นความร่วมมือในการปฏิบัติของหน่วยพลเรือน และศรชล. ซึ่งเป็นหน่วยที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับภารกิจดังกล่าว ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพเรือ รวมถึงหน่วยต่างๆที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมเจ้าท่า กรมประมง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รวมถึงภาคเอกชนต่าง ๆ เพราะฉะนั้นการเชื่อมต่อในส่วนของทางทะเลมาสู่ฝั่งจึงกำหนดให้มีการทบทวนการปฎิบัติ เพื่อช่วยเหลือเมื่อเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ
“สิ่งสำคัญของการฝึกคือให้กำลังพลแต่ละภาคส่วนมาร่วมปฏิบัติเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น และความเข้าใจในการปฏิบัติงานร่วมกัน และสิ่งสำคัญคือการอำนวยการร่วม เช่น การจัดการจราจร การนำส่งรพ. การควบคุมพื้นที่ เพื่อให้เกิดการบูรณาการที่มีประสิทธิภาพ ขอชื่นชมทุกคนที่ร่วมใจปฏิบัติงาน และอยากให้ประชาชนเชื่อมั่นในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่เมื่อเกิดภัยพิบัติว่ากองทัพเรือมีความพร้อมอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้กองทัพเรือรวมถึงเหล่าทัพอื่น ๆ มีความพร้อมด้านยุทธการ นอกเหนือจากนั้นเราก็ติดตามสถานการณ์การปฎิบัติต่าง ๆ และความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของภูมิภาค” ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กล่าว.-สำนักข่าวไทย