รัฐสภา 15 มิ.ย.- กมธ.กฎหมายฯ จ่อเสนอ พ.ร.บ. ประวัติอาชญากรรม ลบประวัติคนที่ศาลสั่งไม่ฟ้อง-อัยการสูงสุดสั่งยกฟ้อง 150,000 ราย
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร แถลงผลการประชุมคณะกรรมาธิการว่า ที่ประชุมพิจารณาการลบประวัติอาชญากรรม ที่มีความสำคัญกับความเป็นอยู่ของประชาชน เพื่อให้ได้ประกอบอาชีพและเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องดูแล โดยได้เชิญ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจง อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กระทรวงยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย และนักวิชาการ เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นและชี้แจงในประเด็นที่เกี่ยวข้อง โดยทาง สตช. ได้ชี้แจงว่า จากการรวบรวมประวัติอาชญากรรมมีทั้งสิ้น 12,000,000 ราย มีการลงทะเบียนแล้ว 11,000,000 ราย มีผู้คนที่มีประวัติศาลสั่งไม่ฟ้อง และอัยการสูงสุดสั่งยกฟ้อง 150,000 ราย ซึ่งในส่วนนี้คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาเห็นว่า ควรลบประวัติในการพิมพ์ลายนิ้วมือ โดยทาง สตช. ระบุว่าจะสามารถดำเนินการขั้นตอนดังกล่าวได้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้
นายชวลิต กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 29 ระบุให้ความเท่าเทียมทางด้านกฎหมายในกรณีที่ผู้ไม่มีความผิด หรือ กรณีที่ผู้ต้องโทษได้พ้นโทษออกมาแล้ว โดยกรณีนี้ทางกระทรวงยุติธรรมชี้แจงว่า จะมีการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประวัติอาชญากรรม ซึ่งได้ร่างเสร็จแล้วและฟังความคิดเห็นกับประชาชนที่เกี่ยวข้องโดยขณะนี้รอส่งให้กับคณะรัฐมนตรี ซึ่งร่าง พ.ร.บ.นี้ จะช่วยให้ผู้เคยกระทำผิดมีที่ยืนในสังคมและสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ จากการคุ้มครองของกฎหมายที่เกิดขึ้น ซึ่งทางคณะกรรมาธิการฯ เห็นด้วยกับหลักการดังกล่าว
ด้านนายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวมีความสำคัญและจำเป็น เพราะที่ผ่านมาระบบประวัติอาชญากรรมไม่เคยแยกประเภท แต่เหมารวมทุกกรณี การแยกให้ผู้พ้นโทษ มีคดีที่ถึงที่สุด และศาลสั่งยกฟ้องรวมถึงคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้องได้มีประวัติที่ดี ถือเป็นไปตามหลักสากล คือ การคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ คุ้มครองสังคม และคุ้มครองบุคคล การดำเนินการต่อจากนี้ ต้องเป็นการจัดลำดับข้อมูลทางด้านความมั่นคง และระบบราชการทั่วไป รวมถึงเอกชนที่ต้องการได้ข้อมูลประวัติอาชญากรรม อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่า หากกฎหมายนี้ได้ผลักดันเข้าสู่สภาฯ และประกาศใช้ จะเป็นประโยชน์กับประชาชนตามหลักนิติธรรม และยังเป็นประโยชน์ต่อกฎหมายที่เกี่ยวข้องในอีกหลายฉบับด้วย.-สำนักข่าวไทย.