กทม. 28 พ.ค. – นายกฯ เชื่อมั่นผลการเยือนญี่ปุ่นส่งผลดีต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต สร้างความเชื่อมั่น ฟื้นฟู ขยายการลงทุนในเขตอุตสาหกรรมเป้าหมาย
นายธนกร วังบุญคงชนะ เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหม ย้ำความสำเร็จภายหลังการเข้าร่วมการประชุม International Conference on the Future of Asia หรือ Nikkei Forum ครั้งที่ 27 เมื่อวันที่ 26 – 27 พฤษภาคม 2565 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในการเดินทางครั้งนี้ได้มีโอกาสหารือร่วมกับ นายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นายมาเอดะ ทาดาชิ ผู้ว่าการธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) และนายโทคุระ มาซาคาสึ ประธานสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น (เคดันเรน) ซึ่งเป็นองค์กรภาคเอกชนที่สำคัญที่สุดของญี่ปุ่น โดยการเยือนฯ ครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้แสดงวิสัยทัศน์และเน้นย้ำความร่วมมือของไทยกับทุกฝ่ายเพื่อขับเคลื่อนผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งมีผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนไทยในหลายประเด็น ดังนี้
นายธนกร กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้ย้ำว่า ภายใต้สถานการณ์ความท้าทายและความชะงักงันในภูมิภาคและในโลก เอเชียควรจะต้องยืดหยุ่นต่อการปรับตัว สนับสนุนความยั่งยืน รวมทั้งสร้างสังคมที่ครอบคลุมมากขึ้น และเชื่อว่าการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจจำเป็นต้องเดินหน้าควบคู่ไปกับการสร้างความสมดุลของทุกสรรพสิ่งและการก้าวไปสู่ความยั่งยืน โดยเสนอประเด็น 3 ประเด็นหลักที่ไทยเชื่อว่าประเทศในภูมิภาคเอเชียจะร่วมมือกันเพื่อก้าวข้ามความท้าทาย ได้แก่ การกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การสนับสนุนระบบพหุภาคี และ การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจจะต้องเกิดควบคู่กับความยั่งยืน ซึ่งแนวคิด BCG ของไทยจะมีส่วนช่วยส่งเสริมแนวทางนี้ได้
นายธนกร กล่าวว่า การพบหารือกับนายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนประเด็นต่าง ๆ ที่ได้หารือกันไว้ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ให้มีความคืบหน้าและเกิดผลเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี หวังจะร่วมมือกับญี่ปุ่นเรื่องการกระจายรายได้และการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายเชื่อมั่นในความเป็นพันธมิตรที่สำคัญของกันและกัน ไทยหวังว่าญี่ปุ่นจะสนับสนุนในสาขาความร่วมมือต่าง ๆ โดยความเข้มแข็งของไทยซึ่งมีที่ตั้งอยู่ศูนย์กลางอาเซียน จะสร้างความเติบโตและเข้มแข็งในอาเซียนได้
นายธนกร กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี มั่นใจว่าไทยจะดูแลและสร้างสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจแก่นักลงทุนญี่ปุ่นในไทย และเชิญชวนให้เอกชนญี่ปุ่น ทั้งบริษัทขนาดใหญ่ SMEs และ Startups มาดำเนินธุรกิจในไทยและใช้ไทยให้เป็นประโยชน์ในฐานะศูนย์กลางการดำเนินธุรกิจของญี่ปุ่นในอนุภูมิภาค และภูมิภาคต่อไป โดยเพิ่มการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เช่น EV อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ยาและเครื่องมือแพทย์ Data 5G และกลุ่ม BCG โดยพิจารณาลงทุนในพื้นที่ EEC เป็นกรณีพิเศษ
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ศึกษาดูงานที่ Haneda Innovation City โครงการเมืองอัจฉริยะตามนโยบายแห่งชาติของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมศูนย์วิจัยและการทดลองเทคโนโลยีล้ำสมัยด้านการเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ เทคโนโลยีหุ่นยนต์อัจฉริยะ เทคโนโลยีทางการแพทย์ สถานีไฮโดรเจน และแหล่งรวมของร้านค้า โรงแรม สำนักงาน และศูนย์จัดการประชุมที่มีความทันสมัยและลงตัว ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องนำตัวอย่างความสำเร็จนี้ไปใช้ในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในประเทศไทย
“นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำว่าในทุกการเดินทางได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นหลัก ซึ่งในครั้งนี้เช่นเดียวกัน ไทยได้สร้างความเชื่อมั่น และแสดงความพร้อมที่จะร่วมมือกับญี่ปุ่นในทุกมิติที่มีศักยภาพร่วมกัน ทั้งระหว่างภาครัฐ และเอกชน โดยเฉพาะด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เพื่อจะต่อยอดฟื้นฟู พัฒนาฐานการค้าการลงทุนระหว่างกัน และมั่นใจว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจ และสังคมระหว่างทั้งสองประเทศ รวมทั้งส่งผลสำคัญอย่างเป็นรูปธรรมถึงอนุภูมิภาค และภูมิภาค” นายธนกร กล่าว