วอชิงตัน 13 พ.ค.-นายกรัฐมนตรีพอใจ ผลการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ สมัยพิเศษพร้อมสานความร่วมมือทุกด้าน เชิญประธานาธิบดีสหรัฐและผู้นำอาเซียน ร่วมประชุมเอเปค ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ
10.45 น. ตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐ ที่ช้ากว่าไทย 11 ชั่วโมง วันที่ 2 ของการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ครั้งที่ 2 ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ปฏิบัติภารกิจพบหารือคณะนักธุรกิจ สภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียน และหอการค้าสหรัฐฯ รวมถึงร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวันที่นางคามาลา เดวี แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพแก่ผู้นำอาเซียน พร้อมหารือถึงความร่วมมือด้านสาธารณสุขและการฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และความร่วมมือทางทะเล จากนั้นเข้าร่วมการหารือประเด็นการเลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด และโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน กับผู้นำระดับสูงของสหรัฐฯ และภารกิจคือการประชุมหารือระหว่างผู้นำอาเซียนกับประธานิบดีสหรัฐฯ ในประเด็นภูมิภาคและระหว่างประเทศ ก่อนเดินทางกลับประเทศไทยทันที และจะถึงประเทศไทยในวันที่ 15 พ.ค.2565 เวลา 5.40 น.
พลเอกประยุทธ์ ได้ กล่าวแสดงความพอใจต่อการเดินทางเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ครั้งที่ 2 ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐฯ พร้อมสรุปว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นโอกาสครบรอบ 45 ปีความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับสหรัฐ และสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐมีมามาอย่างยาวนาน และความร่วมมือมีมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการแลกเปลี่ยนระดับสูง การทำงานร่วมกันบนพื้นฐานผลประโยชน์ร่วม ทั้งทางการทหาร เศรษฐกิจ ความมั่นคง การค้า การลงทุน รัฐบาลไทยและสหรัฐ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีท่าทีที่สำคัญร่วมกัน ทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ พลังงาน เทคโนโลยีสะอาด การรับมือการแพร่ระบาดโควิด-19 และโรคอุบัติใหม่ ทั้งมิติสาธารณสุข เพราะต้องการสร้างห่วงโซ่ที่เข้มแข็งในประเทศไทย เพื่อลดผลกระทบกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทย ตลอดจนการพัฒนาที่ยั่งยืน
การเดินทางมาครั้งนี้ได้มีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และผู้นำระดับสูงของสหรัฐฯ และภาคธุรกิจเอกชนสหรัฐฯ ที่จะได้ร่วมกันขับเคลื่อนฟื้นฟูการเจริญเติบโตของภูมิภาค พร้อมเชิญชวนให้มาร่วมลงทุนในไทย เพื่อให้เกิดการกระจายตัวของห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน โดยเตรียมที่จะดูแลกฎกติกา สิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ โอกาสนี้ได้เชิญสหรัฐฯและผู้นำชาติอาเซียน เข้าร่วมการประชุมเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพในเดือนพฤศจิกายน 2565 นี้ ส่วนใหญ่ตอบรับแต่ต้องรอการยืนยันอย่างเป็นทางการ
ส่วนเรื่องปัญหาพลังงาน นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่าส่งผลกระทบต่อหลายประเทศ จนทำให้จีดีพีปรับตัวลดลง ซึ่งรัฐบาลได้เข้าไปดูแลทุกภาคส่วนอย่างดี แต่หากจะให้การช่วยเหลือส่วนใดส่วนหนึ่งมากเกินไป ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อภาคส่วนอื่นได้ ดังนั้นทุกฝ่ายต้องมองไปข้างหน้า และไทยเองได้ขอความร่วมมือกับสหรัฐฯในการผลิตและใช้พลังงานดิจิทัล EV เพื่อแก้วิกฤติพลังงาน ปัญหาสินค้าขาดแคลน และความยากจน ซึ่งกลุ่มบุคคลที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือผู้มีรายได้น้อย พร้อมขออย่าด้อยค่ากันและกันในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เพราหากมีความรักความสามัคคีก็จะทำให้ประเทศชาติเดินไปข้างหน้าได้
ในการประชุมครั้งนี้ ไทยยังผลักดันขอให้สหรัฐฯและผู้นำอาเซียนปรับเปลี่ยนเรื่องของการมุ่งเอาชนะ มาเน้นดูแลเรื่องมนุษยธรรมด้วย ซึ่งครอบคลุมทุกเรื่อง ไม่เฉพาะเรื่องของสงครามเท่านั้น และบทบยาทของไทยในภูมิภาคจะเน้นลดความขัดแย้ง ลดการเผชิญหน้า และพร้อมจะเอื้อกับทุกประเทศในการฟื้นตัวของเศรฐกิจ นอกจากนี้ไทยยังเสนอไปยังประเทศมหาอำนาจทั้งหลายว่าต้องหาแนวทางอย่างไรเพื่อให้โลกเกิดความสงบสุขและดูแลประชากรโลกให้มีความสุขและปลอดภัย โดยส่วนตัวเชื่อว่าปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในขณะนี้จะสามารถยุติได้ในเร็วๆนี้ .-สำนักข่าวไทย