วอซิงตัน ดีซี 10 พ.ค.-นายกฯ ร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ สมัยพิเศษ 12-13 พ.ค.นี้ เตรียมเสนอแนวทางการฟื้นฟูและเติบโตอย่างยั่งยืนในยุค next normal พร้อมพบนักธุรกิจสหรัฐสานต่อนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมีกำหนดเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐ สมัยพิเศษ (ASEAN-U.S. Special Summit) ที่กรุงวอชิงตันดีซี สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 12-13 พฤษภาคมนี้ ซึ่งการประชุมดังกล่าวถูกจัดขึ้นเพื่อฉลองครบรอบ 45 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐเพื่อให้ผู้นำทั้งสองฝ่ายหารือกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างกันในอนาคต
การจัดประชุมสมัยพิเศษนี้ เป็นกำหนดการที่สหรัฐฯ และอาเชียนหารือกันล่วงหน้ามาก่อนแล้วตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 แต่เนื่องจากหลายประเทศติดปัญหาสถานการณ์ภายในประเทศไม่สามารถมาร่วมได้ การประชุมครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 หลังจากครั้งแรกเมื่อปี 2559 ที่เมืองซันนีแลนด์ ในสมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา ซึ่งในครั้งนั้น นายกรัฐมนตรีของไทยเข้าร่วมประชุมด้วย
ทั้งนี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดนจัดงานเลี้ยงอาหารค่ำที่ทำเนียบขาว นอกจากนี้ผู้นำอาเซียนจะได้พบกับนางแนนซี เพโลซี ประธานรัฐสภาสหรัฐ รวมทั้งจะได้พบกับรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ และผู้นำภาคเอกชนสหรัฐด้วย ขณะที่นางคามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐจะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันแก่ผู้นำอาเซียนด้วย
ในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรีในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะหารือทวิภาคีกับนายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐ ในประเด็นความมั่นคง โดยเฉพาะความมั่นคงในรูปแบบใหม่ ความมั่นคงทางทะเล การบริหารทรัพยากรทางน้ำ ความมั่นคงของมนุษย์ และความร่วมมือของกระทรวงกลาโหมทั้งสองประเทศ โดยเดินทางมาสหรัฐฯ ครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีไม่มีกำหนดหารือทวิภาคกับประธานาธิบดีสหรัฐ
ส่วนประเด็นหลักที่นายกรัฐมนตรีจะนำเสนอในการประชุมครั้งนี้ คือ การส่งเสริมให้สหรัฐฯ มีบทบาทสร้างสรรค์ในภูมิภาค เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูและการเติบโตอย่างยั่งยืนในยุค next normal เน้น 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. การส่งเสริมบทบาทที่สร้างสรรค์ของสหรัฐในภูมิภาค 2. การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและยั่งยืน และ3. การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะการส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG โมเดล รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นภูมิภาค
ในส่วนของภาคธุรกิจ นายกรัฐมนตรีจะพบกับผู้นำภาคเอกชนสหรัฐ โดยหารือแบบโต๊ะกลมระหว่างรับประทานอาหารเช้า จัดโดย 3 หน่วยงานภาคเอกชนของสหรัฐ ประกอบด้วย สภาหอการค้าสหรัฐ สภาธุรกิจสหรัฐ-อาเซียน และ National Center for APEC เป็นสภาธุรกิจสหรัฐที่มุ่งเน้นการอำนวยความสะดวกในการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนสหรัฐในเอเปค โดยเชิญซีอีโอของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่สนใจจะเข้ามาลงทุนในไทย ไม่ว่าจะด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี การเกษตร การแพทย์ และพลังงาน มาหารือแบบกลุ่มเล็ก ซึ่งจะหารือแนวทางสานต่อนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยต่อไป
สำหรับการประชุมผู้นำอาเซียน-สหรัฐ สมัยพิเศษครั้งนี้ เป็นที่น่าจับตาท่าทีของอาเซียนเกี่ยวกับสถานการณ์สงครามรัสเซีย- ยูเครน ซึ่งคาดว่าจะสหรัฐฯ น่าจะใช้โอกาสช่วงรับประทานอาหารค่ำที่ทำเนียบขาวอย่างไม่เป็นทางการ พูดคุยกับผู้นำอาเซียน ส่วนผู้นำอาเซียนที่ยืนยันไม่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้มี 2 ประเทศ คือประธานาธิบดีฟิลิปปินส์เนื่องจากมีเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์วันที่ 9 พฤษภาคม รวมถึงเมียนมา ทั้งนี้ การจัดการประชุมสมัยพิเศษในครั้งนี้มีมาตราการคุมเข้มเรื่องการรักษาความปลอดภัยระดับสูง โดยจำกัดสื่อมวลชนและประเทศที่จะเข้าบันทึกภาพ.-สำนักข่าวไทย