กรุงเทพฯ 6 พ.ค. – “ชัชชาติ” ชวนคนกรุงเทพฯ ใช้สิทธิถล่มทลาย เลือกผู้ว่า แสดงฉันทามติ เดินหน้าสู่การเปลี่ยนแปลง พร้อมชวนฟังปราศรัย “รวมพลัง รวมความหวัง ส่งชัชชาติแก้กรุงเทพฯ” ที่สวนลุมพินี 8 พ.ค. นี้ โค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 8 ลงพื้นที่เขตลาดกระบังและเขตสวนหลวง ตลาดหลายแห่ง อาทิ ตลาดหัวตะเข้ ตลาดนำชัย ตลาดลานบุญ ฯลฯ รับฟังปัญหาเส้นเลือดฝอยจากผู้นำชุมชนสู่การพัฒนา “นโยบายรายเขต” หวังมุ่งตอบสนองปัญหาใกล้ตัวประชาชน ชี้นโยบายรายเขตเป็นผลจากการลงพื้นที่กว่า 2 ปี ส่วนโค้งสุดท้าย 2 สัปดาห์ก่อนเลือกตั้ง ชัชชาติเผยเดินหน้าวิ่งเข้าเส้นชัย ส่วนผลเป็นอย่างไรให้ประชาชนตัดสิน พร้อมปักธงจัดเวทีปราศรัยที่สวนลุมพินี วันอาทิตย์ที่ 8 พ.ค. 65 เวลา 17.30 น. เป็นต้นไป เชิญชวนชาวกรุงเทพฯ “รวมพลัง รวมความหวัง ส่งชัชชาติแก้กรุงเทพฯ”
นายชัชชาติ ได้เชิญชวนประชาชนร่วมงาน “รวมพลัง รวมความหวัง ส่งชัชชาติแก้กรุงเทพฯ” วันอาทิตย์ที่ 8 พ.ค. 2565 เวลา 17.30-20.00 น. ที่ศาลาแปดเหลี่ยม สวนลุมพินี มีเป้าหมายนำเสนอผลการลงพื้นที่สำรวจปัญหาของคนกรุงเทพฯ ทั้ง 50 เขต กว่า 1,000 วัน ร่วมกับกลุ่มอาสาสมัครและประชาชน กระทั่งเกิดเป็นนโยบายพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคนมากกว่า 200 นโยบาย ครอบคลุม 9 มิติการพัฒนา สำหรับประชาชนที่ไม่สะดวกเดินทางมายังสถานที่จัดงาน สามารถรับชมได้ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ชัชชาติย้ำพร้อมวิ่งเข้าเส้นชัยในช่วงโค้งสุดท้าย ผลการเลือกตั้งเป็นอย่างไรประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ
“สองปีครึ่งเหมือนระยะเวลาในการทำวิทยานิพนธ์เล่มใหญ่เล่มหนึ่ง วันที่ 8 พ.ค. จะเป็นการเล่าสรุปให้ฟังว่า การทำงานตลอด 2 ปีกว่าที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ก็เป็นกิจกรรมที่สนุกๆ สบายๆ อยากให้ทุกคนรับฟัง ส่วนเวลาอีก 2 สัปดาห์ที่เหลือก็จะตั้งหน้าตั้งตาวิ่งเข้าเส้นชัย จะวิ่งเข้าได้ที่เท่าไหร่ให้เป็นหน้าที่ของประชาชนตัดสิน” นายชัชชาติกล่าว
นายชัชชาติ กล่าวย้ำว่า ขอเชิญชวนประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกมาใช้สิทธิตอบระบอบประชาธิปไตยให้มากที่สุด เพื่อให้ได้ผู้ว่าฯ กทม. ที่เกิดจากฉันทามติของคนกรุงเทพฯ อย่างแท้จริง 22 พ.ค.นี้
ส่วนการลงพื้นที่เขตลาดกระบัง นายชัชชาติ ได้ยกตัวอย่างนโยบายเขตลาดกระบังที่สอดคล้องกับปัญหาเส้นเลือดฝอยในพื้นที่ อาทิ ด้านการระบายน้ำ มีนโยบายลดจุดเสี่ยงน้ำท่วม ด้วยการเตรียมแผนรับมือและเร่งจัดสรรงบแก้ไขจุดเสี่ยงน้ำท่วม 9 จุด และจุดเฝ้าระวังน้ำท่วมบนถนนกว่า 48 จุด รวมทั้งนโยบายขุดลอกคูคลอง 3,000 กิโลเมตร ด้านการสัญจร มีนโยบายเพิ่มรถเมล์สายหลักและสายรองราคาถูกราคาเดียว ขณะที่ด้านสาธารณสุข มีนโยบายยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข เพิ่มการรักษาและเพิ่มทรัพยากร และขยายโรงพยาบาลสังกัด กทม. ให้ครบ 10,000 เตียง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพ .-สำนักข่าวไทย