กทม. 4 พ.ค.- ‘ไอติม ก้าวไกล’ ลุยงานแรกที่กรุงเทพฯ สาธิตนโยบาย ‘วิโรจน์’ งบชุมชนเลือกเองได้ ย้ำ การกระจายอำนาจที่แท้จริงคือการกระจายงบให้อยู่ในมือประชาชนแก้ปัญหาได้เอง ไม่ต้องรอระบบอุปถัมภ์
วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เบอร์ 1 พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นฤธัช สีบุญเรือง ผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เบอร์ 5 เขตวังทองหลาง พรรคก้าวไกล ลงพื้นที่พบประชาชน ชุมชนจันทราสุข เขตวังทองหลาง โดยมี พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบายของพรรคก้าวไกล ร่วมรับฟังปัญหาของประชาชนในชุมชนจันทราสุข ซอยลาดพร้าว 87 เขตวังทองหลาง พร้อมสาธิตนโยบาย “งบที่เลือกเองได้” ให้ประชาชนเลือกว่าอยากนำงบประมาณไปแก้ปัญหาด้านไหน
วิโรจน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา 8 ปี ประชาชนที่อยู่ในชุมชน นอกชุมชน ต้องการสิ่งใดก็จะไปเรียกร้องจากสำนักเขต เเต่เขตก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด งบที่เคยกระจุกที่สำนักงานเขต หากงบนี้จะใช้งานได้จริงต้องมีการกระจายงบ 4,000 ล้าน กระจายลง 2,000 ชุมชน เพื่อให้ชุมชนเเต่ละชุมชนได้มีงบประมาณสำรองไว้สำหรับดูเเลคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน
ด้าน พริษฐ์ กล่าวว่า เราต้องการเน้นไปที่นโยบายการสร้างการมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นต้นเเบบการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเเน่นอนว่า จะส่งเสริมการกระจายอำนาจมาสู่ประชาชน เพื่อสร้างรากฐานประชาธิปไตยให้เเข็งเเรง โดยเรามุ่งเน้นการกระจายงบประมาณให้ชุมชน ซึ่งพรรคก้าวไกล เรามองว่าเทคโนโลยีหลายอย่างๆ สามารถทำให้เกิดการกระจายอำนาจ เเละนำไปสู่การกำหนดงบประมาณเเละผลักดันเป็นนโยบายได้
“ประโยชน์ที่เราจะได้จากการที่ประชาชนกำหนดงบประมาณของตัวเอง คือ สร้างโครงการที่เป็นประโยชน์กับประชาชนโดยเเท้จริง ประเด็นต่อมา ในเรื่องความโปร่งใส เมื่อเรากระจายงบประมาณให้ประชาชนได้กำหนดเอง ทำเกิดความโปร่งใส ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของและอยากมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ประเด็นสุดท้ายคือประชาธิปไตย ที่เราสามารถสร้างขึ้นได้ในชุมชน เป็นต้นแบบที่เราจะผลักดันไปสู่การเมืองในระดับท้องถิ่น เเละในระดับประเทศ”
ทั้งนี้ จากการรับฟังปัญหา ประชาชนในชุมชนจันทราสุขเสนอโครงการที่อยากแก้ปัญหาถึง 10 ด้าน อาทิ การสร้างหลังคาคลุมลานชุมชน การสร้างงานให้ผู้สูงอายุ การปรับปรุงทางเข้าออก การปรับปรุงเสียงตามสาย ฯลฯ ทั้งนี้ จากการให้ประชาชนติดสติกเกอร์โหวต พบว่าสิ่งที่ประชาชนในชุมชนจันทราสุขต้องการมากที่สุด 4 อันดับแรก คือ 1.การทำหลังคาลานชุมชนให้ชาวบ้านใช้เป็นลานชุมชน 2. การติดเครื่องปรับอากาศในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 3. การปรับปรุงเส้นทางเชื่อมเข้าออก 4. การทำโครงการสร้างงานสร้างรายได้ให้ผู้สูงอายุ
“ผมคิดว่าทุกคนคงเคยได้ยินคำว่า ‘ต้องการจายอำนาจ’ แต่ยังไม่เข้าใจว่าการกระจายอำนาจคืออะไร สิ่งที่ท่านทำในวันนี้แหละครับคือรูปธรรมของการกระจายอำนาจไม่ใช่เราซื้อของไปตั้งในชุมชน ถ้าเกิดว่าเรากระจายงบประมาณแบบนี้ไปได้ เราก็จะเกิดบรรยากาศอบอุ่นแบบนี้ไปทั่ว 2,000 ชุมชน และนี่จะทำให้ทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของกรุงเทพ ไม่ใช่แค่ผู้อยู่อาศัยที่ต้องอ้อนวอนร้องขอ” วิโรจน์กล่าวทิ้งท้าย .-สำนักข่าวไทย