ศาลฎีกา 26 เม.ย.-ศาลฎีกาเลื่อนนัดตรวจหลักฐานคดี “ธนิกานต์” ผิดจริยธรรมปมเสียบบัตรแทนกัน รอผลคดีอาญาเสร็จก่อน นัดใหม่ 16 ส.ค.นี้ เจ้าตัวยอมรับกังวลปชช.เข้าใจผิด เหตุศาลยังไม่ตัดสิน
ศาลฎีกานัดตรวจหลักฐานคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห้งชาติ(ป.ป.ช.) ยื่นร้องน.ส.ธนิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ เรื่องฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง จากการเสียบบัตรแทนกันระหว่างการพิจารณาร่างพ.ร.บ. เหรียญราชรุจิ ร.10 โดยพฤติกรรมดังกล่าวถือว่าฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ข้อ 6-8, 11, 17 และ 27
น.ส.ธนิกานต์มาศาลพร้อมทนายความ โดยยื่นคำร้องขอแต่งตั้งทนายใหม่ เนื่องจากทนายคนเดิมขอถอนตัว ซึ่งศาลอนุญาต จากนั้นศาลอ่านกระบวนการพิจารณาให้คู่ความฟังว่ากรณีนี้ยังเป็นคดีที่อัยการสูงสุดยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีหมายเลขดำ อม.19/2564 ของศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งพฤติการณ์ของคดีมีข้อเท็จจริงเดียวกันกับคดีที่ป.ป.ช.ร้องต่อศาลฎีกา และมีพยานหลักฐานชุดเดียวกัน โดยคดีอาญาของศาลฎีกาฯ นัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 26 พ.ค.นี้ เริ่มไต่สวนพยานครั้งแรกวันที่ 31 พ.ค.นี้ ซึ่งคู่ความทั้งสองฝ่ายเห็นตรงกันให้รอผลคำพิพากษาคดีอาญาให้เสร็จสิ้นก่อน จึงให้นัดพร้อมเพื่อฟังความคืบหน้าคดีนี้ใหม่ในวันที่ 16 ส.ค.เวลา 09.30 น.
น.ส.ธนิกานต์ ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าไปฟังศาลว่า กระบวนการไต่สวนจะเริ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม โดยพยานฝั่งตนมีไม่มากนัก คาดว่า 2-3 วันน่าจะเสร็จสิ้น การมาในวันนี้เพื่อรายงานตัวและรายงานต่อศาลว่าตารางการทำงานคดีอาญาพิจารณาถึงขั้นไหนแล้ว ซึ่งตนดำเนินการตามขั้นตอน ตามกระบวนการที่ศาลนัด หากศาลนัดเร็วขึ้น ความยุติธรรมจะได้ไม่ล่าช้า ศาลให้เวลาและนัดมา เหลือเพียงขั้นตอนการรอ ทั้งนี้ ที่ผ่านมายังไม่เคยถูกเรียกพยานมาก่อน คดีนี้เป็นคดีแรก ตั้งแต่ป.ป.ช.ร้องมา โดยที่ยังไม่ได้ไต่สวนฝ่ายตนเลย มีแต่กล่าวโทษ ดังนั้น การเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จะมีโอกาสเบิกพยานฝั่งตนต่อสู้คดี
เมื่อถามว่า มองบทลงโทษทางคดีจริยธรรมของน.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ อดีตส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐกับคดีของตนอย่างไร น.ส.ธนิกานต์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่มาก ด้วยผลพวงของรัฐธรรมนูญ 60 แต่เนื้อความคนละเรื่อง คนละกระบวนการกัน ฉะนั้นก็ต้องต่อสู้อย่างเต็มที่ ซึ่งตนไม่ได้เปรียบเทียบกับคดีของน.ส.ปารีณา เพราะคนละกรณีกัน แต่การมีคดีความก็มีความกังวลอยู่แล้ว ที่ประชาชนอาจจะคิดว่า กระทำผิดจริงตัดสินไปแล้ว ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
“ถ้ามีเลือกตั้งใหม่เร็ว ๆ นี้ สิทธิ์การลงสมัครไม่ได้หมดไป เพราะคดีนี้ยังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากสิทธิ์ในการเป็นส.ส.ยังอยู่ครบถ้วน เพียงแต่มีผู้ร้องร้องเข้ามาก็ต้องนำเข้ากระบวนการที่ถูกต้อง มีข้อเดียวที่ทำไม่ได้คือการถูกหยุดปฏิบัติหน้าที่ในสภาฯ ที่ไม่สามารถกดลงมติได้ เพราะถ้าหากกดลงมติแล้วสุดท้ายคดีนี้แพ้ จะทำให้กฎหมายในสภานั้นเป็นโมฆะ ส่วนตัวอยากให้คดีจบให้เร็วที่สุด เพราะกระบวนการที่ล่าช้าคือความไม่ยุติธรรม แต่ศาลก็ให้ความเมตตาที่นัดมาทุกเดือน และจะเข้าสู่กระบวนการไต่สวนช่วงเดือนพฤษภาคม” น.ส.ธนิกานต์ กล่าว.-สำนักข่าวไทย