สำนักงานกกต. 30 มี.ค.-กกต.เตือนผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.- เมืองพัทยา ตรวจสอบคุณสมบัติให้ดีก่อนลงสมัคร ขออย่าเอาสนุกเข้าว่า ขู่อาจถูกดำเนินคดีภายหลัง ย้ำ ระวังการสัญญาว่าจะให้-ขนคนไปเลือกตั้ง
นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รักษาการแทนเลขาธิการกกต. แถลงข่าว “ข้อควรรู้เพื่อนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชนในการเลือกตั้งกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา” “รวมพลังสุจริต ใช้สิทธิอย่างโปร่งใส พร้อมใจไปเลือกตั้ง” ในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565 เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับสื่อมวลชนนำไปเผยแพร่ให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทราบข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยาได้ครอบคลุม แพร่หลายและออกมาใช้สิทธิได้อย่างถูกต้อง
นายแสวง กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีความพิเศษ ซึ่งดูจากการโหมโรงตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งจนถึงเวลานี้ ผู้สมัครมีชื่อเสียง มีผู้คนรู้จัก ขณะที่พรรคการเมืองก็ส่งผู้สมัครกันหลายพรรค ซึ่งความพิเศษนี้จะมีความสลับซับซ้อนในการหาเสียง โดยเฉพาะหลายพรรคการเมืองเข้ามาหาเสียงด้วย
น.ส.มาณวิกา ทองประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เป็นห่วงผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ที่จะรู้ไม่เท่าทันเรื่องการจัดเลี้ยงกองเชียร์ในวันรับสมัคร หรือมีขบวนแห่รำกลองยาว เพราะจะถือว่าเป็นการจัดให้มีมหรสพ ซึ่งผิดกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น นอกจากนี้กกต.กทม.ได้เตรียมความพร้อม โดยเฉพาะการป้องปรามการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง โดยจัดชุดตำรวจเคลื่อนที่เร็วคอยตรวจตราการเลือกตั้งเขตละ 3 คน รวม 150 คน ใน 50 เขตของกทม.
ร.ต.อ.ชนินทร์ น้อยเล็ก รองเลขาธิการกกต. กล่าวถึงการสืบสวนและข้อห้ามการเลือกตั้งกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา ว่า จากการเลือกตั้งท้องถิ่นที่ผ่านมามีการกระทำความผิดมากมาย บางครั้งก็รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ซึ่งหลายเรื่องมีโทษหนักมากและมีหลายข้อหาถึงขั้นจำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000-600,000 บาท ตัดสิทธิเลือกตั้งถึง 20 ปี จึงอยากฝากบอกผู้สมัครเรื่องคุณสมบัติ เพราะมีผู้สมัครส.ว.กว่า 300 คนขาดคุณสมับติ ผู้สมัครส.ส. 200 คน ผู้สมัครเลือกตั้งท้องถิ่น 3 ประเภท คาดว่าต้องดำเนินคดีอีก 1,000 คน ทั้งนี้ เมื่อสมัครแล้วห้ามถอน ดังนั้น ต้องคิดให้ดีก่อนจะลงสมัคร เพราะหากรู้ว่าไม่มีคุณสมบัติแล้วยังสมัคร ถือว่ามีความผิด
“ขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติของตัวเองให้ดี อย่าคิดว่ามีเวลา มีเงิน มีพวก แล้วชวนกันไปสมัครเอาสนุกเข้าว่า เพราะหากคุณสมบัติไม่ครบ จะมีประวัติถูกดำเนินคดีติดตัวไปด้วย โดยเฉพาะผู้ที่เคยถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายกำหนด จะถือว่าขาดคุณสมบัติ รวมทั้งกรณีขนคนไปเลือกตั้ง การสัญญาว่าจะให้ จัดให้มีเล่นพนันเลือกตั้ง โทษหนักจำคุก -10 ปี ขอให้ผู้สมัครระมัดระวังให้ดี เพราะคดีเหล่านี้ โทษหนักทั้งสิ้น” รองเลขาธิการกกต. กล่าว
ร.ต.อ.ชนินทร์ กล่าวว่า หากใครมีเบาะแสและหลักฐาน สามารถแจ้งมายัง กกต.หรือผอ.การเลือกตั้งประจำจังหวัดเพื่อจับกุมต่อไป และหากเป็นหลักฐานที่สามารถเอาผิดได้จริง จะมีเงินรางวัลนำจับสูงสุดถึง 100,000 บาทด้วย โดยประชาชนสามารถเข้าไปแจ้งในแอปพลิเคชันตาสับปะรดได้ การซื้อเสียงไม่ใช่แค่ผู้ให้เงินที่มีความผิด แต่ผู้รับเงินก็มีความผิดด้วยเช่นกัน โดยมีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 10 ปี ปรับถึง 100,000 บาท
ช่วงท้าย นายแสวง ย้ำเรื่องคุณสมบัติของผู้สมัครว่า กกต.จะตรวจสอบในส่วนที่มีข้อมูลอยู่ในฐานของรัฐ ด้วยการขอข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐ 20 กว่าหน่วย แต่บางข้อมูลไม่มีในฐาน ตามกฎหมายจึงกำหนดให้ผู้สมัครรับรองตัวเอง หากตรวจเจอในภายหลังจะถูกดำเนินคดีทางอาญา ส่วนการหาเสียง ต้องระมัดระวังเรื่องการใช้ตำแหน่งหน้าที่หาเสียง แม้จะหาเสียงนอกเวลาราชการก็ถือว่าผิด เช่น นายอำเภอ มีญาติเป็นผู้สมัคร และไปรับประทานอาหารเที่ยงแล้วบอกคนอื่นว่า ขอให้เลือกน้องชายของตนเองนั้น แบบนี้สามารถทำได้ แต่หากนายอำเภอ เรียกประชุมผู้ใหญ่บ้าน เพื่อบอกให้เลือกผู้สมัคร ก็จะถือว่าผิด
นายแสวง กล่าวว่า เมื่อปิดหีบแล้วตรวจสอบพบว่าผู้แสดงตนมาใช้สิทธิกับจำนวนบัตรเท่ากัน แต่นับคะแนนกลับต่างกัน ก็ต้องนับคะแนนใหม่ แต่หากผู้มาแสดงตนใช้สิทธิกับจำนวนบัตรไม่ตรงกัน ซึ่งอาจจะเกิดจากคนนำบัตรออกจากหน่วยเลือกตั้ง หรือเหตุอื่น ๆ แต่ทำให้บัตรหายไป กรณีนี้ต้องลงคะแนนใหม่ ซึ่งจะต่างจากกรณีแรก ทั้งนี้ หากข้อเท็จจริงตรวจสอบแล้วพบต้นเหตุว่ามีที่มาที่ไป เช่น มีการฉีกบัตรเลือกตั้ง ทำให้จำนวนบัตรไม่ตรงกัน ก็ไม่ต้องนับคะแนนหรือลงคะแนนใหม่.-สำนักข่าวไทย