มูลนิธิป่ารอยต่อ 14 มี.ค. – “พล.อ.ประวิตร” ประชุม กนช. พอใจความคืบหน้าการจัดการน้ำ สั่งเร่งรัดโครงการ ป้องกันน้ำเค็มรุก รวมถึงผลิตน้ำจืดจากทะเล รับรองEEC พร้อมเห็นชอบ13 มาตรการ รับมือฤดูฝนปี65 และระบบบำบัดน้ำเสีย ฟื้นฟู”คลองแสนแสบ”
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่1/2565 ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ โดยที่ประชุมได้รับทราบ ความคืบหน้าโครงการบริหารจัดการน้ำที่สำคัญ อาทิ โครงการผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งได้มีการศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว และ สทนช. จะได้ดำเนินการขับเคลื่อน เตรียมเสนอ กนช.ต่อไป และรับทราบ ผลการดำเนินงานตามมาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำ ฤดูแล้งปี 64/65 (9 มาตรการ) และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง และฝนทิ้งช่วงปี65 รวมถึงรับทราบความคืบหน้าโครงการสำคัญ ได้แก่ การศึกษาการก่อสร้างประตูระบายน้ำป้องกันการรุกตัวของน้ำเค็มในอ่าวไทย เข้ามาในแม่น้ำสายหลัก โดยจะเริ่มดำเนินงานในปีงบประมาณ 2566
จากนั้นที่ประชุม ได้มีการพิจารณาเห็นชอบ มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2564/2565 ซึ่งประกอบด้วย 13 มาตรการโดยมีการดำเนินงานเพื่อรองรับการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ทั้งนี้ สทนช.ยังได้จัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในฤดูฝนปี65 และกักเก็บน้ำไว้ใช้ฤดูแล้งปี65/66 ด้วย และเห็นชอบโครงการบำบัดน้ำเสียมีนบุรี ระยะที่ 2 ซึ่งจะทำให้มีความสามารถในการบำบัดน้ำเสียได้มากถึง 42,000 ลบ.ม./วัน ครอบคลุมพื้นที่บริการ 15.39 ตาราง ก.ม.ในพื้นที่เขตมีนบุรี ,เขตคลองสามวา ,เขตสะพานสูง และเขตคันนายาว ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร ได้กำชับ กทม.ให้จัดทำแผนการใช้ประโยชน์จากน้ำ ภายหลังการบำบัดแล้วให้ชัดเจน เพิ่มเติมด้วย ต่อไป รวมถึงเห็นชอบ กรอบการศึกษานวัตกรรมเชิงระบบ โครงสร้าง กลไก ที่จะช่วยให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ มีแนวทางที่ชัดเจน ไม่ทับซ้อน และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำพ.ศ.2561 โดยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการใช้น้ำจากทุกภาคส่วน เข้ามามีส่วนร่วมได้ อย่างเต็มที่
พล.อ.ประวิตร ได้กำชับ สทนช. และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งบูรณาการขับเคลื่อนแผนงาน โครงการต่างๆ ให้สามารถแก้ปัญหาน้ำ เพื่อลดผลกระทบประชาชนจากภาวะน้ำท่วม ภัยแล้งให้ได้ผล อย่างเป็นรูปธรรม และได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงาน เร่งรัดการดำเนินงานที่ยังไม่แล้วเสร็จ โดยต้องขับเคลื่อนแผนงานต่างๆให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ ให้ทันตามกรอบเวลา รวมทั้งจะต้องสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ ให้ทุกภาคส่วน และประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐ ควบคู่กันไป เพื่อให้การแก้ไขปัญหา เกิดผลสัมฤทธิ์ อย่างยั่งยืน และเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล.-สำนักข่าวไทย