ทำเนียบรัฐบาล 1 มี.ค.-รมว.กต. เผยไทยต้องปรับท่าทีรับมือวิกฤติ “รัสเซีย-ยูเครน” หลังมีแนวโน้มเจรจาหาข้อยุติสงคราม ชี้การประณามไม่ใช่ทางออก ควรเร่งเปิดพื้นที่พูดคุยต่อเนื่อง ระบุไม่ง่าย มีประเทศหวังผลประโยชน์จากขัดแย้ง
นายดอน ปรมัติวินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พูดคุยถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซีย สำหรับไทยอาจจะต้องปรับท่าทีบางส่วน เพราะเห็นว่าการประนามของหลายฝ่ายไม่ได้ช่วยอะไร แต่ไทยจะต้องหาจุดที่สามารถช่วยให้สถานการณ์เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้ ต้องช่วยกันคิดว่าต้องทำอย่างไร ซึ่งทำได้ เราจะต้องหาทางส่งเสริมการพูดคุย ซึ่งขณะนี้มีการพูดคุยกันอยู่ ต้องทำให้การพูดคุยมีความต่อเนื่อง ไม่หยุดนิ่ง
ส่วนกรณีประธานาธิบดียูเครนสมัครเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ท่าทีจากนี้จะเป็นอย่างไร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า จะทำให้ท่าทีของการเจรจาจะเข้มข้นขึ้น แข็งขึ้น แต่เป็นปกติของการเจรจา เป็นลักษณะของการเสริมท่าที ซึ่งเป็นเรื่องปกติ และส่งผลให้การเจรจายากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้น ต้องช่วยกันเอาจริงเอาจังหาทางออกมากกว่าที่จะหาทางเสริมความแกร่งของท่าที ซึ่งการเข้าสมัครเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของยูเครนนั้น ไม่เชิงว่าเป็นความคิดของยูเครนเอง น่าจะมีปัจจัยอื่นเพื่อต้องการให้สถานการณ์ยึดเยื้อออกไป เพราะคนที่หวังประโยชน์จากการสู้รบครั้งนี้มีเยอะ
เมื่อถามว่ามีแนวทางอย่างไรที่จะกดดันกลุ่มที่มีประโยชน์จากความขัดแย้ง นายดอน กล่าวว่า อย่าลืมว่าคนเสียประโยชน์คือคนทั้งโลก ซึ่งต้องมาข่วยกันหาวิธีในรูปแบบการหารือที่เป็นประโยชน์ที่สุด เราทะเลาะกันมามากแล้ว
“ไทยมีความโชคดีอย่างหนึ่งคือ เราเป็นเพื่อนกับคนทั้งโลก สามารถพูดคุยกันได้เยอะ แต่คุยแล้วมีน้ำหนักมากหนักแค่ไหนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เรามีช่องทางในการพูดคุย ทั้ง EU รัสเซีย ยูเครน และสหรัฐอเมริกา มีช่องทาง เพียงแต่บางเรื่องเราต้องปล่อยให้ไหลไปตามธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องรีบกระโดดเข้าไปมีบทบาท เรื่องนี้เป็นเรื่องของเวทียุโรป เราเป็นแค่ส่วนหนึ่งของโลก ก็ต้องดูว่า สุดท้ายจะคลี่คลายหรือไม่ และผลที่ตามมากับประเทศไทยจะเป็นอย่างไร เพราะหากเป็นเช่นนี้ต่อไป ปัญหาพลังงานก็จะตามมาแน่นอน เงินเฟ้อจะสูงขึ้น ซึ่งเราไม่ต้องการเช่นนั้น” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าว
นายดอน กล่าวว่า จากท่าทีที่ผ่านมาเมื่อวานนี้(28 ก.พ.) รัสเซียเองก็อยากเจรจากับยูเครน แต่อยู่ที่ว่าจะรับท่าทีตรงไหน อย่างไร และต้องดูปัจจัย องค์ประกอบแทรกซ้อน ขอให้ติดตามเรื่องดังกล่าวให้ดี จะได้เห็นการเจราจรระดับโลก และนี่คือปัญหาการเมืองที่ไม่ได้มีแค่ปัญหาเฉพาะหน้า แต่มีปัญหาที่ซุกซ่อนอยู่มาก มีการพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา และหวังผลประโยชน์จากสถานการณ์ เอาประโยชน์จากความอ่อนแอของแต่ละประเทศ ดังนั้น ประเทศจะอ่อนแอไม่ได้ เพราะถ้าอ่อนแอจะโดนทันที
“ตอนนี้ผู้คนอยู่ในกระแสโซเชียลเยอะ และต้นทางของกระแสโซเชียลก็มาจากฝั่งยุโรป ซึ่งเป็นการสื่อสารที่คนทั่วโลกเข้าใจ คนทั่วไปไม่มีทางเข้าใจการสื่อสารภาษารัสเชีย คนส่วนใหญ่จึงเทไปทางตะวันตก” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าว.-สำนักข่าวไทย