รัฐสภา 23 ก.พ.-สภาเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการทำให้บุคคลสูญหาย ด้วยคะแนน 359 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 1 เสียง และไม่ลงคะแนน 2 เสียง
การประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันนี้ (23 ก.พ.) มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. …. ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้วซึ่งเป็นการพิจารณาในวาระสอง ตามรายมาตรา ซึ่งมีทั้งหมด 5 หมวด 34 และบทเฉพาะกาล
นายชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกมธ.วิสามัญฯ เสนอรายงานว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ สอดคล้องกับอนุสัญญาระหว่างประเทศ ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีไว้ 2 ฉบับคือ 1.อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนากการบังคับให้หายสาบสูญ และ 2.อนุสัญญาการต่อต้านการทรมาน และการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย้ำยีศักดิ์ศรี ซึ่งสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มุ่งป้องกันและปราบปรามเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่ให้กระทำผิดกฎหมายเสียเอง ขณะเดียวกันก็มุ่งคุ้มครอง เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งถือว่าเป็นร่างกฎหมายที่ให้ความเป็นธรรม ทั้งประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ
นายชวลิต กล่าวต่อว่า กมธ.ฯ ได้สรุปสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ฯบางส่วนดังนี้ 1. มีการเพิ่มบทบัญญัติว่าด้ายการกระทำความผิดฐานกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย้ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 2.กำหนดให้มีการบันทุกภาพและเสียงในการตรวจค้นในคดีอาญา และการบันทึกภาพและเสียงในขณะจับกุมตรวจค้นในคดีอาญา 3.องค์ประกอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย มีความครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านสิทธิมนุษยชน ด้านกฎหมาย แพทย์ทางนิติเวชและทางจิตเวชศาสตร์ 4.กระบวนการสรรหาคณะกรรมการดังกล่าว กำหนดให้ฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นตัวแทนประชาชนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการสรรหา และ5.ให้คดีตามพ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นคดีพิเศษ และกำหนดให้หลายหน่วยงานเข้ามาร่วมสอบสวน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในด้านการดำเนินคดี และรวบรวมพยานหลักฐานให้ทันกับสถานการณ์และป้องกันการทำลายพยานหลักฐานสำคัญในคดี
ด้านนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ได้เสนอให้เพิ่มในมาตรา 2/1 คือ เพื่อให้กำหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่กำหนดมาตรฐานเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะปัญหาการอุ้มหาย การซ้อมทรมาน เป็นปัญหาสำคัญและเป็นความท้าทายของประเทศไทย ซึ่งในอดีตมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากไม่มีการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำไว้ในกฎหมาย เกรงว่าในอนาคตก็จะเกิดขึ้นอีกและจะมีการนำกฎหมายพิเศษมากล่าวอ้าง อีกทั้ง จะเป็นการยกระดับสิทธิมนุษยชนของไทย อีกทั้ง การเสนอแก้ไขมาตราดังกล่าวจะทำให้กฎหมายในอนาคตมีมาตรฐานที่สูงขึ้น และเพื่อให้กฎหมายนี้บังคับใช้ได้จริง เพราะประเทศไทยมีการใช้กำหมายพิเศษตลอดเวลา มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วยกฎหมาย ไม่สามารถปกป้องประชาชนได้จริง
ขณะที่ กรรมาธิการเสียงข้างมาก ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขในมาตรา 2/1 เนื่องจาก กฎหมายฉบับนี้เป็นการป้องกันการสูญหายและการซ้อมทรมาน จึงเป็นกฎหมายที่กำหนดมาตรการใช้บังคับเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐานของกฎหมาย ซึ่งในการแก้ไขเรื่องการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ยังไม่ได้กำหนดเนื้อหาไว้ชัดเจน หากมีการวางนโยบายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ อาจจะกระทบกับบทบัญญัติในกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกหลายฉบับ ฉะนั้น จึงไม่ควรแก้ไขเพิ่มเติมตามที่ผู้ขอสงวนความเห็นเสนอ ซึ่งที่สุดแล้วที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้คงไว้ตามร่างเดิมที่กรรมาธิการเสียงข้างมากเสนอไว้
ขณะที่ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ท้วงติงในมาตรา 13/1 เกี่ยวกับการแต่งตั้งเป็นกรรมการสรรหา ซึ่งกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติตราให้ฝ่ายบริหารนำไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งฝ่ายบริหารมีหน้าที่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมาย ดังนั้น หากบัญญัติให้ฝ่ายนิติบัญญัติไปเป็นกรรมการสรรหาอยู่ในกฎหมายของฝ่ายบริหาร จะทำให้การถ่วงดุล การตรวจสอบการใช้อำนาจซึ่งกันและกัน บิดเบี้ยวไป โดยมาตรา 184 วรรคท้าย ตามรัฐธรรมนูญระบุไว้ชัดเจนว่า “ไม่ให้ใช้บังคับกรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา รับ หรือ ดำรงตำแหน่งกรรมการ กรรมาธิการของรัฐสภา หรือกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งในการบริหารราชการแผ่น ที่เกี่ยวข้องกับกิจการสภา” ซึ่งการตีความจากบทบัญญัตินี้ หมายถึง ไม่ให้ฝ่ายนิติบัญญัติให้อำนาจตนเองไว้ในกฎหมายของฝ่ายบริหาร จึงเกรงว่าจะเกิดปัญหาในอนาคต
ด้านนายชวลิต วิชยสุทธิ์ ประธานกรรมาธิการ ชี้แจงว่า กรรมาธิการได้พิจารณาอย่างกว้างขวาง โดยเห็นตรงกันว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา หรือรัฐสภา มีหน้าที่คุ้มครองปะชาชน ดังนั้น การที่ออกกฎหมายต้องยึดโยงกับประชาชน ซึ่งในการสรรหาคณะกรรมการต้องอยู่ในภาระหน้าที่ขององค์กรนิติบัญญัติ ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้คงไว้ตามร่างเดิมที่กรรมาธิการเสนอ
หลังสมาชิกอภิปรายเป็นรายมาตราเสร็จสิ้นแล้ว ที่ประชุมมติในวาระสาม เห็นชอบกับร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ด้วยคะแนน 359 เสียง ไม่เห็นด้วยไม่มี งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนน 2 เสียง.-สำนักข่าวไทย