ทำเนียบ 23 ก.พ. -ศบค. ชี้ ภาพรวมเตียงยังมีเพียงพอรักษาผู้ป่วย ด้าน กทม. จ่อเปิดศูนย์พักคอยเพิ่มอีก 9 แห่ง ขณะที่ นายกฯ ห่วงสายด่วนคับคั่ง ขอช่วยกันดูแลประชาชน พร้อมเปิดแผนวัคซีนเด็ก-ผู้สูงอายุ เดือนมีนาคม 2565 ระบุ พบผู้สูงอายุไม่เคยฉีด เสียชีวิตถึงร้อยละ 58.2 แนะเร่งฉีดเพื่อลดอัตราความเสี่ยง
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กล่าวถึงสถานการณ์การครองเตียงของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ภาพรวมทั้งประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 22 ก.พ. 2565) เตียงสีเขียว เตียงสีเหลือง และเตียงสีแดง อัตราการครองเตียงยังไม่มาก ภาพรวมทั้งประเทศมีอัตราครองเตียง อยู่ที่ 49.1% ซึ่งยังต้องมีเตียงไว้สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยวิกฤติ คือระดับ 21 ขึ้นไปในส่วนของผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการน้อยอยากจะให้อยู่ในศูนย์แยกกักในชุมชน (Community Isolation) ขณะนี้มีอยู่ 21,120 ราย และมีผู้ป่วยลงทะเบียนรักษาแบบ Home Isolation อีก 47,373 ราย
ส่วนเรื่องของสายด่วน 1669 และ 1330 ที่มีความคับคั่ง นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. มีความห่วงใย และอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกัน เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับการดูแลอย่างดี บางบ้านไม่พร้อมที่จะให้อยู่จะต้องจัดการอย่างไร ให้ได้รับการดูแล Community Isolation จึงมีความสำคัญ ซึ่งทางด้าน พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รายงานวันนี้ว่ามีเพียงพอ ซึ่ง กทม. มีศูนย์พักคอยทั้งหมด 31 แห่ง มีเตียงเหลืออยู่ประมาณ 1,900 เตียง และจะเปิดเพิ่มอีก 9 แห่ง จะมีเตียงเพิ่มขึ้น 970 เตียง นอกจากนี้จะเพิ่มคู่สายตามสำนักงานเขตเพิ่มขึ้นอีก
นพ.ทวีศิลป์ ยังแถลงถึงแผนการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 เดือนมีนาคม 2565 สำหรับกลุ่มเด็กอายุ 5-11 ปี แต่ละจังหวัดจะได้รับการจัดสรรวัคซีนไฟเวอร์ (ฝาส้ม) สัดส่วนร้อยละ 5.1 ของจำนวนวัคซีนที่กรมควบคุมโรคได้รับมอบการบริษัทผู้ผลิตในแต่ละสัปดาห์โดยขอให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร บริหารจัดการวัคซีนไฟเซอร์ ฝาสีส้ม ดังนี้
- วัคซีนสูตร ไฟเซอร์+ไฟเซอร์ สำหรับฉีดเด็กสุขภาพปกติ ให้บริการผ่านระบบสถานศึกษาเท่านั้น โดยเริ่มที่นักเรียนชั้น ป.6 และถัดลงไปตามลำดับ
- วัคซีนสูตร ซิโนแวค+ไฟเซอร์ ให้จัดช่องลงทะเบียนล่วงหน้าเพื่อเป็นทางเลือกให้ประชาชน
สำหรับการให้บริหารจัดการวัคซีนไฟเซอร์ฝาสีส้ม ให้กลุ่มเป้าหมาย ตามลำดับความสำคัญ ดังนี้
1.เข็มที่ 1 และ 2 ในกลุ่มเด็กอายุ 5-11 ปี ที่มี 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง
2.ผู้ที่มีนัดเข็ม 2 ของทุกสูตร
3.เข็ม 1 ของสูตรไฟเซอร์+ไฟเซอร์ เริ่มที่นักเรียนชั้น ป.6 จนครบแล้ว จึงฉีดให้ชั้นปีถัดลงไป
4.เข็มกระตุ้นในเด็กที่มีประวัติการฉีดวัคซีนเชื้อตายครบ 2 เข็ม โดยมีระยะห่างอย่างน้อย 4 สัปดาห์ขึ้นไป หลังฉีดเข็มที่ 2
โฆษก ศบค. กล่าว่า ในส่วนของกลุ่มผู้สูงอายุนั้น ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ตั้งแต่ 1 ม.ค. – 18 ก.พ.2565 พบว่า มีผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี เสียชีวิตจากการติดเชื้อ 666 คน คิดเป็น 82% ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด และเมื่อแยกประเภทตามประวัติการได้รับวัคซีน พบว่า ไม่มีประวัติการฉีดวัคซีนถึง 387 คน (ร้อยละ 58.2), มีประวัติรับวัคซีน 1 เข็ม 66 คน (ร้อยละ 9.9), มีประวัติรับวัคซีน 2 เข็ม 197 คน (ร้อยละ 29.5) และมีประวัติรับวัคซีน 3 เข็มขึ้นไป 16 คน (ร้อยละ 2.4) ดังนั้น ควรเร่งรัดให้มีการฉีดวัคซีนทั้งเข็มที่ 1, 2 และเข็มกระตุ้นในผู้สูงอายุที่ครบระยะเวลาฉีดภายในเดือนมีนาคม 2565 เพื่อลดอัตราความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากการติดเชื้อ.-สำนักข่าวไทย