ศาลฎีกา 17 ก.พ.- “สุเทพ” เข้าไต่สวนข้อกล่าวหาคดีทุจริตก่อสร้างโรงพักนัดแรก ยันบริสุทธิ์ สบายใจหลังทุกข์ทรมานสังคมมองทุจริต มั่นใจคดีจบในปีนี้ ผลพิพากษาจะออกมาถูกใจ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากที่คณะกรรมการปราบปรามการทุจริตเเห่งชาติ (ป.ป.ช.) นำสำนวนพร้อมความเห็นต่อศาลฎีกา สมควรสั่งฟ้อง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีกับพว รวม 6 คน ฐานกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 อนุมัติเปลี่ยนเเปลงวิธีจัดซื้อจัดจ้างโครงการสร้างโรงพักทดเเทน 396 เเห่งทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2552 ระหว่างดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นายสุเทพ มาศาลฎีกาพร้อมนายสวัสดิ์ เจริญผล ทนายความ เพื่อสอบปากคำให้การนัดแรก โดยเปิดเผยก่อนเข้าห้องพิจารณาคดีว่า เป็นโอกาสดีที่จะได้ชี้แจงข้อกล่าวหา หลังจากถูกสังคมมองว่ามีความผิด ถูกฟ้องว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบการก่อสร้างสถานีตำรวจ 396 แห่งเมื่อครั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรี ซึ่งความจริงคดีนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน เพียงแต่การไต่สวนยาวนานถึง 6 ปี และเมื่ออัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องพร้อมส่งสำนวนคืนให้ป.ป.ช. ทำให้ป.ป.ช.ยื่นฟ้องเอง และศาลนัดแรกวันนี้ จะยื่นคำให้การโดยย่อ จำนวน 31 หน้า เพื่อแสดงให้เห็นแนวทางการต่อสู้คดี
“คิดว่าหลังจากวันนี้ จะไม่ยึดเยื้อแล้ว โดยอาจจะใช้เวลา 1-3 เดือน และคาดว่าน่าจะจบภายในปีนี้ วันนี้ผมรู้สึกสบายใจขึ้น เพราะทุกข์ทรมานมาหลายปี จะได้ยุติเสียที ยืนยันว่าผมไม่ได้กระทำผิด ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีและกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เพราะมติคณะรัฐมนตรีไม่มีเรื่องการกำหนดวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง แต่เป็นเรื่องของหัวหน้าส่วนราชการในยุคนั้นที่จัดซื้อจัดจ้างโดยแบ่งเป็นภาค ซึ่งผมเห็นว่าเป็นวิธีการจัดซื้อจัดจ้างที่ดีที่สุด ซึ่งพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.)ขณะนั้นเสนอมา และขณะที่ผมเห็นชอบสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังไม่ได้ขอตั้งงบประมาณ ต่อมาเมื่อจัดตั้งงบประมาณแทนที่จะทำเป็น 9 โครงการ แต่กลับทำเป็นสัญญาเดียว และต่อมาเมื่อพล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาการผบ.ตร.แย้งว่าทำไม่ได้เพราะเข้าข่ายแบ่งซื้อแบ่งจ้างผิดกฎหมาย เนื่องจากร่างประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 ออกแล้ว จึงเสนอว่าวิธีการที่ผมเห็นชอบ ต้องยกเลิกและเปลี่ยนมาทำสัญญาเดียว” นายสุเทพ กล่าว
นายสุเทพ กล่าวว่า เมื่อตรวจดูพบว่า ร่างสัญญางบประมาณรายจ่ายทำเป็นสัญญาเดียว จึงอนุมัติตามที่ขอมา หลังจากนั้นจึงเป็นขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีการ การประมูลแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีผู้เข้าแข่งขัน 5 ราย ผู้ชนะการประมูลเสนอต่ำกว่าราคากลาง 540 ล้านบาท ต่อมาพล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร.คนต่อมาทำเรื่องเสนอยืนยันดำเนินการอย่างถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยพัสดุ ด้วยวิธีการจัดซื้อจัดจ้างทางอิเล็กทรอนิกส์ จึงได้เซ็นลงนามตามเสนอมา จากนั้นตนก็พ้นจากตำแหน่ง และมีการขยายเวลาก่อสร้างอีก 270 วัน ซึ่งขณะนั้นนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) นำเรื่องนี้มาโจมตีหวังผลทางการเมืองช่วยพล.ต.อ.พงศพัฒน์ พงษ์เจริญในช่วงการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
“ผมได้ยื่นฟ้องนายธาริตจนนำไปสู่การตัดสินจำคุกและนายธาริตก็นำเรื่องนี้ไปยื่นฟ้องต่อ ป.ป.ช. แต่ทางป.ป.ช.ไม่รับฟังพยานบุคคลที่รู้ข้อเท็จจริง เช่น เลขาธิการและรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี รวมถึงผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และจะนำบุคคลเหล่านี้มาซักค้านในการต่อสู้คดีนี้ด้วย เพราะอำนาจศาลฎีกาสามารถ เรียกพยานบุคคลเหล่านี้มาให้ปากคำได้ ส่วนถ้าผมชนะคดีแล้วจะฟ้องกลับป.ป.ช.หรือไม่ อยากให้รอดูตอนจบ รับรองพวกเราจะชอบใจ” นายสุเทพ กล่าว
นายสุเทพ เปิดเผยภายหลังจากเข้าให้ปากคำว่ารู้สึกสบายใจขึ้น ตนและจำเลยทั้ง 6 คนได้ให้การปฏิเสธต่อศาลแล้ว ศาลนัดไตร่สวนพยานทั้งหมด 6 นัด โดยพยานฝ่ายโจทก์นัดไต่สวนวันที่ 2 , 30 มิถุนายนและ 7 กรกฎาคม ส่วนพยานจำเลยนัดไต่สวนวันที่ 19, 21และ 26 กรกฎาคม ซึ่งจากการสอบปากคำวันนี้ ตนมั่นใจและอาจจะขอเพิ่มพยานจากที่ทางคณะกรรมการป.ป.ช.ไต่สวนอีก 2-3 ปาก.-สำนักข่าวไทย