รัฐสภา 10 ก.พ.- สภาฯ ล่มอีก หลังฝ่ายค้านเสนอนับองค์ประชุม “ชวน” ย้ำเป็นสิทธิ์ ส.ส. แม้เสนอพร่ำเพรื่อ ชี้ขึ้นอยู่กับสามัญสำนึก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันนี้ (10 ก.พ.) มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม โดยภายหลังเสร็จสิ้นการพิจารณารับทราบประกาศคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เรื่องนโยบายการตรวจเงินแผ่นดินประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และเข้าสู่การพิจารณารับทราบรายงานประจำปี 2562 กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ โดยผู้ชี้แจงขอเลื่อนชี้แจงเป็นวันที่ 24 ก.พ. 65 ระหว่างนั้นนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นเสนอว่าการรับทราบรายงานมีความจำเป็นที่จะต้องมีองค์ประชุมให้ครบ จึงเสนอให้ตรวจสอบองค์ประชุม ทำให้นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคพลังประชารัฐ ได้เสนอให้นับองค์ประชุมโดยการขานชื่อ ซึ่งมีผู้รับรองทั้งสองมติ ทำให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เสนอให้วิปทั้งสองฝ่ายไปหารือกัน โดยให้เหตุผลว่า การรับทราบรายงานของหน่วยงานเป็นเรื่องที่ไม่ลงมติ แต่เป็นสิทธิของสมาชิกในการเสนอ หากสองฝ่ายยืนยันไม่หารือกัน ก็เข้าสู่กระบวนการตรวจสอบองค์ประชุมตามข้อบังคับโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้
ระหว่างนั้นมีการโต้เถียงกันระหว่างฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล โดย ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล มองว่าการเสนอญัตติดังกล่าวไม่สามารถทำได้ โดยระหว่างรอองค์ประชุมนั้น นายนิโรธ สุนทรเลขา ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล ระบุว่าการเสนอนับองค์ประชุมเช่นนี้เหมาะสมหรือไม่และถือเป็นญัตติหรือไม่ จึงอยากให้ประธานฯ ได้ทบทวน
“การนับองค์ประชุมเพื่อป่วนสภาฯ เป็นการทำลายความมั่นคงของสภาฯ ผิดรัฐธรรมนูญและกฎหมายอาญา มาตรา 157” นายนิโรธ กล่าว จนทำให้นายพิเชษฐ์ลุกขึ้นประท้วง แต่นายนิโรธได้สวนทันทีว่า “ขอให้มีมารยาทหน่อยในสภาฯ อย่าต้องทำให้จริยธรรมตกต่ำ”
ทำให้นายชวนต้องยืนยันว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นสิทธิของสมาชิกที่จะเสนอตรวจสอบองค์ประชุมได้ ส่วนการเสนอเช่นนี้เหมาะสมหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสามัญสำนึก พร้อมย้ำว่าความจริงแล้วองค์ประชุมครบ ถ้านับตัวบุคคล
“ตนเป็นผู้นำฝ่ายค้าน 3 สมัย พอจะรู้ดีว่าการใช้สิทธิดังกล่าวเป็นกรณีที่รัฐบาลกลั่นแกล้ง เช่น เขาไม่ให้พูด มีการเสนอปิดอภิปราย ยกมือก็ไม่ให้พูด สมัยนี้ดีไม่มีเลย และสมัยนี้เป็นสมัยที่เราได้อภิปรายทั่วถึงทุกคน ซึ่งไม่เคยปรากฎอย่างนี้มาก่อน เพราะเราถือว่าสภาเป็นที่พูด แต่การประท้วง หรือการนับองค์ประชุมนั้น สมัยก่อนก็มี ในกรณีที่เห็นว่ารัฐบาลไปกลั่นแกล้งเขา เขายกมือไม่ให้พูด มีคนเสนอปิดอภิปราย ไม่ใช่ลักษณะอย่างปัจจุบัน ผมทราบดีเรื่องพวกนี้ เช่น เวลานับองค์ประชุม ตนเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ตนก็นั่งในห้องประชุม เพราะองค์ประชุมสมัยนั้นเขานับตัวคน แต่ปัจจุบันกดบัตร อันนี้คือข้อแตกต่างที่ทำให้บางท่านอยู่ในห้องประชุม บางครั้งห้องประชุมนี้ครบ แต่เนื่องจากสมาชิกบางท่านไม่กดบัตร องค์ประชุมก็เลยไม่ครบ ทั้งที่ความจริงแล้วองค์ประชุมครบ ถ้านับตัวบุคคล อันนี้คือข้อเท็จจริง” นายชวน กล่าว
ขณะที่นายชาดา ไทยเศรษฐ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย ขอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยรายชื่อ ส.ส.ทั้งที่มาประชุม ส.ส.ที่เข้าประชุมแต่ไม่เสียบบัตร และ ส.ส.ที่ขาดประชุม ให้สื่อมวลชนทราบ เพื่อให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน หลังถกเถียงกันกว่า 20 นาที นายชวนให้สมาชิกตรวจสอบองค์ประชุมโดยการเสียบบัตร ปรากฎว่ามีผู้แสดงตนเพียง 227 คน ไม่ครบองค์ประชุม ทำให้ต้องปิดการประชุม โดยนับเป็นสภาล่มครั้งที่ 3 ของเดือนนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาผู้แทนราษฎรได้มีการเผยแพร่ผลการนับองค์ประชุมที่มี ส.ส.แสดงตนจำนวน 227 คน พบว่าฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยที่มี ส.ส. 131 คน มีผู้แสดงตนเพียง 5 คน (ไม่แสดงตน 126 คน) รวมถึงนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ผู้ที่เสนอนับองค์ประชุมด้วย, พรรคก้าวไกลที่มี ส.ส. 51 คน แสดงตน 5 คน (ไม่แสดงตน 46 คน) ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาล อาทิ พลังประชารัฐ ซึ่งมี ส.ส. 97 คน มี ส.ส.แสดงตน 76 คน (ไม่แสดงตน 21 คน), พรรคภูมิใจไทย มี ส.ส. 59 คน แสดงตน 51 คน (ไม่แสดงตน 8 คน) ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ที่มี ส.ส. 50 คน แสดงตน 36 คน (ไม่แสดงตน 14 คน ), ส่วนพรรคเศรษฐกิจไทยที่มี ส.ส. สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ 16 คน ไม่แสดงตนเพียง 3 คน ได้แก่ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า นายไผ่ ลิกค์ และนายสถิระ เผือกประพันธ์
โดยสรุป ส.ส.ฝ่ายค้าน จำนวน 207 คน ไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุมในวันนี้ 192 คน ส่วนฝ่ายรัฐบาล 267 คน ไม่แสดงตนเข้าประชุม 55 คน.-สำนักข่าวไทย