ทำเนียบฯ 5 ก.พ.- นายกฯ ผลักดัน ให้ความสำคัญกับการศึกษา เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยได้วางรากฐานเพื่อการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง
วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษาเพื่อทรัพยากรมนุษย์มาโดยตลอด เป็นหนึ่งในปัจจัยที่นายกรัฐมนตรีมุ่งมั่น ตั้งใจให้เห็นภาพความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้วางแนวทางด้านการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องตลอดการทำงาน
นายกรัฐมนตรีเน้นการพัฒนาระบบการศึกษาเพื่อสร้างคนในชาติ ก้าวทันความเปลี่ยนแปลง และพลวัตของโลก ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ได้เห็นชอบโครงการนำร่องของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ได้พัฒนาหลักสูตรการศึกษารูปแบบใหม่ “Higher Education Sandbox” ตอบสนองแนวทางการศึกษาในอนาคตที่ยืดหยุ่นและคล่องตัว มุ่งให้เกิดประสิทธิภาพการเรียนรู้และผลสัมฤทธิ์ ให้ความสำคัญทั้งกับหลักการ และประสบการณ์จากการลงมือปฏิบัติจริง รวมทั้ง เป็นการศึกษาที่มุ่งการสร้างอาชีพ เป็นการผลิต “กำลังคนขั้นสูง” ตอบโจทย์ความต้องการ ด้านเศรษฐกิจและสังคมยุคใหม่มากขึ้น ถือเป็นก้าวสำคัญของ “การปฏิรูปการศึกษา” ในระดับมหาวิทยาลัย สร้างทรัพยากรมนุษย์มารองรับการขับเคลื่อนประเทศชาติ
ในระดับ “การศึกษาขั้นพื้นฐาน” รัฐบาลได้ผลักดัน พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ.2562 ขับเคลื่อนการศึกษาให้สอดคล้องกับบริบทในแต่ละท้องถิ่น ทั้งอาชีพและความต้องการแรงงาน กำหนด “โรงเรียนนำร่อง” และสร้าง “เครือข่ายโรงเรียนพัฒนาตนเอง” เน้นการส่งเสริมความถนัดของผู้เรียน สนับสนุนการมีส่วนร่วมของ ภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม
นายธนกร กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ที่มุ่งมั่นตั้งใจทำงานโดยในการทำงานนั้น จะวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบ และเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานบูรณาการการทำงานร่วมกัน ในส่วนของการพัฒนาบุคลากรมนุษย์ นายกรัฐมนตรีได้วางแนวทางให้กระทรวงศึกษาธิการ และการทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เป็น “ต้นทาง” ฝ่ายผลิตกำลังคน มีกลางทาง และปลายทาง คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงแรงงาน เป็นต้น มองความต้องการทั้งในประเทศ ตามการผลักดันนโยบายของรัฐบาล ได้แก่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โมเดล BCG ครอบคลุมอุตสาหกรรมเป้าหมาย รวมทั้งสร้างโอกาสใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชื่อว่า รัฐบาลต้องดำเนินการทุกมิติพร้อม ๆ กัน ทั้งโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ (Hardware) กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ พันธสัญญาต่าง ๆ กับประชาคมโลก (Software) และการเตรียมกำลังคนด้วยการปฏิรูปการศึกษา (Peopleware)
“เชื่อมั่นว่า การทำงานของนายกรัฐมนตรีซึ่งให้ความสำคัญตลอดมากับอนาคตของลูกหลานไทย ไม่เคยทิ้งใครไว้ข้างหลัง และตั้งใจพัฒนาประเทศอย่างเป็นระบบ ครอบคลุม กำหนดกรอบการทำงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน บูรณาการทุกส่วนงาน และควบคุมในเชิงนโยบายอย่างรอบคอบ สุจริต โปร่งใส จะทำให้ระบบการศึกษาไทย เท่าทันการพัฒนาของโลก เด็กไทยจะมีอนาคตที่ดี มีอาชีพ มีรายได้ที่เป็นไปตามภาวะตลาดโลก และเป็นบุคลากรโลก ที่สามารถแข่งขันได้ในตลาดแรงงานโลก” นายธนกรกล่าว .-สำนักข่าวไทย