สระแก้ว 4 ก.พ.-“พล.อ.ประวิตร” ลงพื้นที่ สระแก้ว ตรวจความพร้อม “ศูนย์กักกันแรงงานต่างด้าว : OQ” คุมเข้มชายแดน ป้องกันโควิด ค้ามนุษย์
ศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 เมื่อวลา 15.30 น. ณ ศูนย์กักกัน (OQ) แรงงานต่างด้าวตาม MOU โรงแรมอินโดจีน แกรนด์ เรสซิเด้นซ์ ตำบลป่าไร่ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว มีผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้วหัวหน้าส่วนราชการให้การต้อนรับและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานผลการปฏิบัติงาน
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว และเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ที่ให้การต้อนรับ และบรรยายสรุป ผลการดำเนินงานที่สำคัญให้ทราบในวันนี้ และขอชื่นชม เป็นกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย และทราบว่าพื้นที่ชายแดนเป็นพื้นที่สำคัญ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นบริเวณชายแดน หากไม่ได้รับการแก้ไข ก็จะส่งผลกระทบ เข้าไปถึงพื้นที่ตอนใน จนกลายเป็นปัญหา ที่ยากจะแก้ไข ให้สำเร็จลุล่วงได้โดยง่าย อีกทั้งการแก้ไขปัญหาตามแนวชายแดนต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเน้นย้ำ แนวทางในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้ทุกหน่วยงาน ได้นำไปเป็นแนวทางในการดำเนินการ เนื่องจาก ยังปรากฏว่า มีการลักลอบ เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย อย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจเชื่อมโยงกับการค้ามนุษย์ ส่งผลต่อรายงานสถานการณ์ การค้ามนุษย์ประจำปี ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความสำคัญ มีความเข้มข้น และจริงจังในการปฏิบัติ หากมีการดำเนินคดีให้พนักงานสอบสวน ทำสำนวน อย่างรอบคอบ ครอบคลุมทุกฐานความผิด และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องไม่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ในขบวนการค้ามนุษย์ อย่างเด็ดขาด
ให้มีการประชาสัมพันธ์ ผ่านสื่อทุกรูปแบบไม่ให้ประชาชนหลงเชื่อ จนถูกหลอกลวงไปทำงาน หากพบต้องให้ความช่วยเหลือ ดูแลอย่างดีที่สุด พร้อมทั้งหาผู้มีส่วนร่วมในการกระทำผิดทั้งขบวนการ มาลงโทษให้ได้ให้กระทรวงแรงงาน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินมาตรการ การนำเข้าแรงงานต่างด้าว เพื่อเข้ามาทำงานในประเทศไทย ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างรัดกุม มีความเข้มงวด และครบถ้วน ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อแก้ไขปัญหา การขาดแคลนแรงงาน และการลักลอบทำงาน อย่างผิดกฎหมาย
ด้านจังหวัดสระแก้วได้มีการเตรียมพร้อมนำเข้าแรงงานต่างด้าวชาวกัมพูชา ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผ่านด่านผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก อำเภออรัญประเทศ ต้องการเข้ามาทำงานกับนายจ้างตาม MOU จำนวน 185 คน ซึ่งแรงงานทั้งหมดจะต้องผ่านการควบคุมโรคระหว่างประเทศด่านตรวจคนเข้าเมืองจากตัวในสถานที่จัดให้จำนวน 7 วัน ทั้งนี้ แรงงานชาวกัมพูชาที่ลงทะเบียน MOU ต้องการเข้ามาทำงานในประเทศไทยมีจำนวนกว่า 15,000 คน.-สำนักข่าวไทย