กทม. 22 ม.ค.-นายกฯ เชื่อมั่นความพร้อมของไทยในการเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคปี 2565 (APEC 2022) ขอบคุณทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อม รัฐบาลเร่งส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ เพิ่มศักยภาพไทยในธุรกิจ MSMEs
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการเตรียมการเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในตลอดปี 2565 ว่าจะเป็นโอกาสสำคัญอย่างยิ่งที่ไทยจะใช้เป็นเวทีหารือในเรื่องของการส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ด้วยความร่วมมือจากผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีการประชุมรวมจำนวนกว่า 250 การประชุม โดยแบ่งการประชุมออกเป็นสองระดับหลัก คือ ระดับนโยบายและระดับรัฐมนตรี รวมไปถึงการประชุมย่อยต่าง ๆ มีผู้เข้าร่วมตั้งแต่ระดับเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากภาครัฐ นักธุรกิจจากภาคเอกชน รวมทั้งสื่อมวลชนจากทั่วโลก โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อทบทวนการดำเนินงานที่ผ่านมา เสนอความคิดเห็นผ่านการแลกเปลี่ยนหารือร่วมกันเพื่อกำหนดเป้าหมายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม
นายธนกร กล่าวว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยืนยันความพร้อมของไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคในปีนี้ (APEC 2022) ขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ประสานการทำงานร่วมกัน ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ตลอดจนความร่วมมือในระดับท้องถิ่นเพื่อเตรียมความพร้อมต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในตลอดปีนี้ โดยล่าสุดได้มีการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับ MSMEs เพื่อภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่ครอบคลุมและยั่งยืน: การลดขยะภาคอาหารในห่วงโซ่อุปทาน” (Food Sector Waste Reduction in Food Supply Chain) โดยทางกระทรวงการต่างประเทศได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคของไทย (APEC Business Advisory Council: ABAC) ซึ่งได้นำข้อเสนอต่าง ๆ มาจัดทำเป็นคู่มือการลดขยะภาคอาหารของ MSMEs เพื่อความครอบคลุมและยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต่อไป
ทั้งนี้ ไทยได้จัดการประชุมครั้งนี้ภายใต้แนวคิด “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” (Open. Connect. Balance.) ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ในเวทีระหว่างประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีพร้อมที่จะนำเสนอบทบาทของไทยในสามประเด็นหลัก ได้แก่
Open การเปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ต่อทุกโอกาส สร้างโอกาสด้านการค้าการลงทุนในทุกมิติ รวมทั้ง วางแผนเศรษฐกิจในอนาคตจากบทเรียนสถานการณ์โควิด-19
Connect การฟื้นฟูความเชื่อมโยงในทุกมิติ เน้นการฟื้นฟูด้านการเดินทาง การท่องเที่ยว และความสะดวกด้านการค้า การลงทุน
Balance การสร้างสมดุลในทุกแง่มุม ส่งเสริมการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคมให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ครอบคลุม ยั่งยืน ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model)
นายธนกร กล่าวว่า ขอเชิญประชาชน ให้ความสำคัญกับภารกิจสำคัญของรัฐบาลไทยที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ ร่วมกันเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคของไทย เพราะเอเปคถือเป็นเวทีหารือเพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกการค้าการลงทุน ซึ่งประชาชนจะได้เห็นการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน สมดุล และครอบคลุม และประชาชนจะได้รับประโยชน์อย่างมาก โดยเฉพาะในภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่จะเปิดเสรีมากยิ่งขึ้น.-สำนักข่าวไทย