ทำเนียบ 24 ธ.ค.- โฆษกรัฐบาลเผยนายกฯ พอใจดัชนีความเชื่อมั่น SME เดือน พ.ย. เพิ่มขึ้นเกินระดับค่าฐานเป็นครั้งแรกที่ 50.8 ฝากผู้ประกอบการเฝ้าระวังโควิด-19 ในสถานประกอบการ หวั่นเป็นปัจจัยลบต่อความเชื่อมั่นและกำลังการผลิต
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมพอใจรับทราบรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SME เดือน พ.ย. 2564 ปรับเพิ่มขึ้น มาอยู่ที่ระดับ 50.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเกินระดับค่าฐานที่ 50 เป็นครั้งแรกตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ เม.ย. 64 เช่นเดียวกับความเชื่อมั่นฯ ผู้ประกอบการ SME รายภูมิภาค ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกภูมิภาค โดยเฉพาะ กรุงเทพฯ และปริมณฑล เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 46.1 มาอยู่ที่ 52.1 ซึ่งเป็นผลจากการผ่อนปรนให้มีการดำเนินธุรกิจมากขึ้น รวมถึงมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐบาลที่มุ่งสนับสนุนผู้ประกอบการและธุรกิจรายย่อยทั้งนี้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมรายงานดัชนี SME ภาคการผลิต การค้า การบริการ และธุรกิจการเกษตร เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 49.4, 49.5 , 51.1 และ 57.2 ตามลำดับ โดยภาคการบริการ มีการปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุด ได้แก่ สาขาบริการการท่องเที่ยว การขนส่งมวลชน (ไม่ประจำทาง) บริการเสริมความงาม/สปา/นวดเพื่อสุขภาพ ร้านอาหาร บริการสันทนาการ/วัฒนธรรม/กีฬา และโรงแรม/ที่พัก ขณะที่ ภาคการบริการ มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุด เมื่อเทียบกับภาคธุรกิจอื่นๆ ทั้งดัชนีด้านคำสั่งซื้อ ปริมาณการผลิต/การค้า/บริการ การลงทุน กำไร และการจ้างงาน เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 55.7 53.0 52.5 52.6 และ 50.5 ตามลำดับ เป็นผลเนื่องมาจากนโยบายการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2564
นายธนกร ยังกล่าวถึงการคาดการณ์ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 58.1 จากแนวโน้มการขยายตัวของยอดขายสินค้าและการให้บริการที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ทุกหน่วยงานให้หมั่นประเมินและปรับปรุงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME เพื่อเสริมแกร่งให้กลุ่มธุรกิจสามารถฟื้นตัว และกลับมาเติบโตได้ในระยะยาว ซึ่งล่าสุด กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม อนุมัติสินเชื่อพิเศษ “ดีพร้อมเปย์” กรอบวงเงิน 30 ล้านบาท เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบกิจการ และต่อยอดธุรกิจ โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ที่เข้าร่วมโครงการฯ อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรียังฝากถึงผู้ประกอบทุกไซส์ทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ต้องเคร่งครัดมาตรการควบคุมโควิด-19 ป้องกันการแพร่ระบาดในสถานประกอบการ เพราะจะเป็นปัจจัยลบส่งผลต่อกำลังการผลิตและความเชื่อมั่นด้วย .-สำนักข่าวไทย