ทำเนียบรัฐบาล 23 ธ.ค.-“พล.อ.ประวิตร” ประชุมค้ามนุษย์ เห็นชอบแก้กม.เกี่ยวกับชดใช้ค่าสินไหมผู้เสียหาย กำชับขยายผลสอบสวนค้ามนุษย์ออนไลน์ อาชญกรรมข้ามชาติควบคู่การขับเคลื่อนในพื้นที่มากขึ้น มุ่งกลุ่มเด็ก สตรีที่ถูกบังคับ
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์จำนวน 2 คณะ ทั้งด้านการป้องกันและปราบปราม รวมทั้งด้านการป้องกันเจ้าหน้าที่รัฐมิให้เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ซึ่งที่ประชุมร่วมกันพิจารณาและเห็นชอบหลายเรื่องสำคัญ ประกอบด้วย ร่างรายงานผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ปี 64
ที่ประชุมมให้ขยายผลขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับเด็ก ( Child Save Friendly Tourism ) จากในพื้นที่นำร่อง 3 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เห็นชอบแต่งตั้งอนุกรรมการบูรณาการและพัฒนาระบบฐานข้อมูลให้ยั่งยืน เพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูลให้ครอบคลุมทั้งในมิติ ด้านการดำเนินคดี การช่วยเหลือผู้เสียหาย การป้องกันการค้ามนุษย์ที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน
ที่ประชุมเห็นชอบร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เพื่อดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินในความผิดการค้ามนุษย์ อันจะเป็นประโยชน์ในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายจากการกระทำผิดเกี่ยวกับค้ามนุษย์ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เห็นชอบการขับเคลื่อนแนวทางการคัดแยกและการช่วยเหลือคุ้มครองบุคคลที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเป็นผู้เสียหาย
ที่ประชุมร่วมพิจารณาและเห็นชอบหลักสูตรการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานด้านการป้องกันและการปราบปรามการค้ามนุษย์ ระยะเร่งด่วนโดยให้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นหน่วยเจ้าภาพจัดอบรม เห็นชอบโครงการนำข้อมูลหรือสถิติคดีค้ามนุษย์มาวิเคราะห์ เพื่อปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และขับเคลื่อนนโยบายของรัฐให้มีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น
พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า การขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ต้องดำเนินควบคู่ไปกับมาตรการป้องกัน มุ่งเน้นทำงานเชิงรุกและพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานเป็นมืออาชีพมากขึ้น โดยให้ลงลึกในพฤติการณ์แห่งคดี การบังคับใช้แรงงาน คดีค้ามนุษย์ด้านแรงงานในภาคประมง และทำลายขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติให้หมดไป ทั้งนี้ ให้ขยายผลสอบสวนการค้ามนุษย์ออนไลน์และอาชญกรรมข้ามชาติ ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนในพื้นที่มากขึ้น
“มุ่งไปยังกลุ่มเสี่ยง เด็กและสตรีที่ยังถูกบังคับ ข่มขืนทรมานจิตใจ ต้องเร่งให้การช่วยเหลือ ยึดผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง ให้ความสำคัญกับกระบวนการคัดแยกด้วย ให้พิจารณาปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับข้อเสนอในรายงาน TIP Report และพันธกรณีระหว่างประเทศด้วย รวมทั้งต้องทำงานใกล้ชิดกับองค์กรระหว่างประเทศมากขึ้น โดยคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ความละเอียดอ่อนสภาวะทางเพศ รวมทั้งเป็นมิตรต่อเด็ก” พล.อ.ประวิตร กล่าว.-สำนักข่าวไทย