รัฐสภา 17 พ.ย.-“ไอติม-ปิยะบุตร” ผิดหวังร่างแก้ไข รธน.ถูกสภาตีตก หวังประชาธิปไตยแบบผู้แทนสานต่อ กำหนดเป็นนโยบายหาเสียง ไม่รู้สถานการณ์การเมืองอนาคต เพราะไม่ใช่คนควบคุม
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ แกนนำกลุ่มรีโซรูชั่น พร้อมด้วยนายปิยะบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า แถลงข่าวภายหลังรัฐสภาลงมติไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยนายพริษฐ์ กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังกับมติ เพราะข้อเสนอไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติ ทั้งที่ข้อเสนอไม่ได้สุดโต่ง ไม่มีฝ่ายใดได้เปรียบทางการเมือง แต่อยากสร้างระบบการเมืองที่ “ควรจะเป็น”
นายพริษฐ์ กล่าวว่า คำว่า “ค ว ร” มีความหมายว่า ค. คือ คืนศักดิ์ศรีให้กับสถาบันทางการเมือง เพื่อเป็นที่พึ่งของประชาชน ว. คือ ไว้ใจ สร้างระบบการเมืองที่ไว้ใจประชาชน และประชาชนกำหนดอนาคตตัวเองได้ ไม่มียุทธศาสตร์ชาติมาครอบงำ และ ร. คือ ระบบที่เป็นกลาง ไม่ว่าจะมีความคิดอย่างไร แข่งขันบนกติกาที่เป็นธรรม ทุกคนมี 1 สิทธิ 1 เสียง
“ในฐานะผู้ริเริ่มกฎหมาย ขอขอบคุณสมาชิกรัฐสภาที่โหวตรับหลักการ ผู้อภิปรายที่เป็นประโยชน์ เจ้าหน้าที่รัฐสภา ขอโทษประชาชนที่เข้าชื่อกว่า 1.3 แสนคนและประชาชนที่ติดตาม หลังพยายามใช้เวลา 3 ชั่วโมงโน้มน้าว แต่ภารกิจนั้นยังไม่สำเร็จ” นายพริษฐ์ กล่าว
นายพริษฐ์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 60 ใช้มา 3 ปี แก้ไขแล้ว 3 ครั้ง เปรียบเป็น 3 ยก ซึ่งส่วนใหญ่แทบไม่ผ่านเลย แต่ผ่านเพียง 1 ครั้งคือระบบเลือกตั้งที่เป็นการสืบทอดอำนาจ จึงขอตั้งคำถามว่านี่หรือเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พล.อ.ประยุทธ์ 0จันทร์โอชากับรัฐบาลกล่าวเป็นนโยบายไว้ ซึ่งถ้าไม่แตะส.ว.และการสืบทอดอำนาจจะไม่สามารถแก้วิกฤติการเมืองได้
นายพริษฐ์ กล่าวว่า การเสนอร่างฯ ดังกล่าวไม่ได้สุดโต่งตามที่สมาชิกส.ว.บางคนอภิปราย เพราะจากที่กลับไปย้อนดูพบว่าส.ว.เหล่านี้เคยโหวตไม่รับเรื่องการตัดอำนาจของตัวเองในการพิจารณากฎหมายก่อนหน้านี้แล้ว
นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า กล่าวว่า ประเทศเราพยายามเพิ่มเสริมเติมแต่งการมีส่วนร่วมของประชาชน หลังจากรัฐธรรมนูญปี 2540 การลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ผ่านถึงวาระ 3 เราหวังว่ารัฐสภาจะเงี่ยหูฟังเสียงจากคนข้างนอกสภา แต่เสียงข้างมากยังไม่เปิดประตูแก้ไขรัฐธรรมนูญ ร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนยังไม่ผ่านวาระ 1 ในการสร้างประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม
“แต่วันนี้ช่องทางถูกปิดลงไปอีก ประชาชนกว่าแสน 3 หมื่นคน และประชาชนที่ได้รับฟังการอภิปรายอย่าเพิ่งสิ้นหวัง เพราะเรายังมีกำลัง มีลมหายใจ จะรณรงค์ต่อไป ถ้าเราไม่ทำ เขาจะอยู่กับรัฐธรรมนูญของพวกเขาต่อไป ในเมื่อประชาธิปไตยทางตรงถูกปิด ก็หวังให้ประชาธิปไตยแบบผู้แทนในสภาที่สนับสนุนนำไปขับเคลื่อนต่อไป หรือนำไปออกแบบเป็นนโยบายและรณรงค์ในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งต่อไป” นายปิยะบุตร กล่าว
นายปิยบุตร กล่าวว่า สำหรับการเคลื่อนไหวต่อไป ต้องพูดคุยกันก่อน ส่วนสถานการณ์จะรุนแรงหรือไม่ ไม่สามารถประเมินได้ เพราะไม่ใช่คนควบคุม แต่เชื่อว่าสังคมและสมาชิกรัฐสภาคาดการณ์ได้ เพราะหลายเรื่องเป็นข้อเรียกร้องจากการชุมนุม.-สำนักข่าวไทย