ทำเนียบฯ 10 พ.ย.-ศบค. เผยตัวเลขโควิดในไทย 6,978 ราย เสียชีวิต 62 ราย ชี้แนวโน้มติดเชื้อทั่วประเทศลดลง แต่ยังพบคลัสเตอร์โรงงาน-สถานประกอบการ-งานบวช-งานกฐิน –งานศพ
พญ.สุมณี วัชรสินธุ์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. และผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยง และพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค แถลงว่า วันนี้พบผู้ติดเชื้อโควิด-19ในประเทศรายใหม่ 6,978 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยรายใหม่ 6,387 ราย ค้นหาเชิงรุกในชุมชน 237 ราย เรือนจำ/ที่ต้องขัง 346 ราย เดินทางจากต่างประเทศ 8 ราย รักษาหายป่วย 7,697 ราย หายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 1, 873,184 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ปี2564 จำนวน 1,989,473ราย ผู้ป่วยรักษาตัว 96,463 ราย อยู่ในโรงพยาบาล 41,559 ราย รพ. สนามและอื่นๆ 54,904 ราย อาการหนัก 1,877 รายใส่เครื่องช่วยหายใจ 423 ราย ผู้เสียชีวิต 62 คน เสียชีวิตสะสม ตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 19,826 คน
ส่วนตัวเลขการฉีดวัคซีนสะสมระหว่างวันที่ 28 ก.พ. – 9 พ.ย.2564 มีผู้รับวัคซีนเข็ม 1 วันนี้ 239,164 ราย ฉีดสะสม 44,355,673 รายและเข็ม 2 วันนี้ 520,475 รายฉีดสะสม 34,760,830ราย เข็ม 3 วันนี้ 32,616 ราย ฉีดสะสม 2,644,559 รายรวม ทั้งหมด 81,761,062 โดส
ส่วนยอดตรวจ ATK วันที่ 10 พ.ย. 64 จำนวน 44,490 คน พบผลบวก 2,052 คน รวมยอดตรวจสะสมตั้งแต่วันที่ 20 ส.ค.- 10 พ.ย.64 จำนวน 3,795,672 คน ผลเป็นบวก 223,760 คน
สำหรับผู้เสียชีวิต 62 คน เป็นชาย 29 คนเป็นหญิง 33 คน เป็นชาวไทย 58 รายและเมียนมา 4 ราย ค่ากลางอายุผู้เสียชีวิต 73 ปี อายุผู้เสียชีวิตระหว่าง 9-102 ปี ค่ากลางระหว่างการทราบผลติดเชื้อจนเสียชีวิต 11 วัน นานสุด 39 วัน พบอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป 45 ราย คิดเป็น 73% อายุน้อยกว่า 60 ปีมีโรคเรื้อรัง 11 ราย คิดเป็น 18% และเป็นผู้เสียชีวิตที่ไม่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 4 ราย คิดเป็น 6% และมีผู้เสียชีวิตเป็นเด็ก 2 ราย อายุ 9 ปีที่จังหวัดสงขลา และอายุ 13 ปีที่จังหวัดตากไม่ได้รับการฉีดวัคซีน พบปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อในพื้นที่ 62 ราย, ติดจากคนรู้จัก 30 ราย, ติดจากครอบครัว 2 ราย และอาศัยในพื้นที่เสี่ยง 30 ราย แบ่งเป็น กรุงเทพมหานคร 5 ราย, ปริมณฑล 3 ราย, ภาคเหนือ 6 ราย, ภาคใต้ 23 ราย, ภาคอีสาน 9 ราย และภาคตะวันออก 16 ราย
ส่วน 10 อันดับแรก ของจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 วันที่ 10 พ.ย.2564 ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร 864 ราย สงขลา 479 ราย เชียงไหม่ 380 ราย ปัตตานี 356 ราย สมุทรปราการ 233 ราย นครศรีธรรมราช 224 ราย ชลบุรี 203 ราย ยะลา 202 ราย นราธิวาส 192 ราย และสุราษฎร์ธานี 183 ราย
ทั้งนี้ยังพบคลัสเตอร์ จากโรงงานและสถานประกอบการ กรุงเทพฯ 78 ราย เพชรบุรี 42 ราย ปราจีนบุรี 21 ราย ราชบุรี 18 ราย เชียงใหม่ 8 ราย สระแก้ว 3 ราย และ สุราษฎร์ธานี 3 ราย รวมถึงยังพบคลัสเตอร์ในตลาด ที่กรุงเทพฯ 310 ราย เชียงใหม่ 53 รายชลบุรี 29 ราย ประจวบคีรีขันธ์ 13 ราย จสระแก้ว 11 ราย กาญจนบุรี 5 ราย นอกจากนี้ยังพบคลัสเตอร์ ตลาดที่จังหวัดอื่นๆ เช่น จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดสุรินทร์จังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดขอนแก่น
พญ.สุมณี กล่าวยังกล่าวถึงส่วนคลัสเตอร์พิธีกรรมทางศาสนา จากงานบวชและงานทอดกฐิน วันเดียวกันนี้รายงาน 2 จังหวัด คือ จังหวัดยโสธร 4 รายและจังหวัดร้อยเอ็ด 2 ราย และยังพบในคลัสเตอร์งานศพ จังหวัดพะเยา 35 รายจังหวัดสระแก้ว 6 ราย จังหวัดเชียงใหม่ 5 รายจังหวัดขอนแก่น 3 ราย และจังหวัดสุราษฎร์ธานี 2 ราย
ทั้งนี้ แคมป์คนงานก่อสร้างยังพบการติดเชื้อ เชียงใหม่ 12 ราย สุราษฎร์ธานี 8 ราย ลำพูน 6 ราย อุทัยธานี 5 ราย ประจวบคีรีขันธ์และกาญจนบุรี ส่วนคลัสเตอร์ระบาดในเรือนจำ พบที่จังหวัดนครราชสีมามากที่สุด 161 ราย กรุงเทพฯ 92 ราย รวมถึงจังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดสุพรรณบุรี
พญ.สุมณี กล่าวว่า ภาพรวมผู้ติดเชื้อทั่วประเทศลดลงอย่างชัดเจน ทิศทางผู้ติดเชื้อในภาคกลางส่วนใหญ่ลดลง มีการเฝ้าระวังผู้ป่วยหลักหน่วยและหลัก 10 ใน 2 จังหวัด คือ สิงห์บุรีและชัยนาท ภาคตะวันออกจังหวัดส่วนใหญ่ลดลง แต่มีที่จังหวัดปราจีนบุรีและสระแก้วที่ยังทรงๆอยู่ ภาคตะวันตก ต้องเฝ้าระวังจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งผู้ป่วยยังไม่ลดลงอย่างชัดเจน ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย จังหวัดที่ทรงๆอยู่มีที่สุราษฎร์ธานี, พัทลุง ด้านจังหวัดนครศรีธรรมราช ยอดผู้ติดเชื้อลดลงจากจุดสูงสุด แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังกันต่อไป
ด้าน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงเฝ้าระวังจับตาที่จังหวัดสงขลา, ปัตตานี ซึ่งตัวเลขยังคงที่และไม่ลดลงมาก ภาคใต้ฝั่งอันดามัน จังหวัดมีแนวโน้มลดลงชัดเจนอยู่ที่จังหวัดระนองและภูเก็ต โดยจังหวัดตรัง, สตูล, พังงา, กระบี่ มีแนวโน้มทรงๆ และมีการรายงานทิศทางแนวโน้มผู้ป่วยหลักสิบ ภาคเหนือตอนบน พบผู้ติดเชื้อยังไม่ลดลงชัดเจนที่จังหวัดเชียงใหม่, ลำพูน, แม่ฮ่องสอน และเชียงราย ภาคเหนือตอนล่าง ยังต้องเฝ้าระวังที่จังหวัด พิษณุโลก ภาคอีสานทั้งตอนบนและตอนล่างส่วนใหญ่มีทิศทางผู้ป่วยที่ลดลง-สำนักข่าวไทย