สงขลา 17 ต.ค.- “เฉลิมชัย” ควง “นิพนธ์” ตรวจคลองพลเอกอาทิตย์ฯ และคลอง ร.1 มั่นใจแก้ปัญหาน้ำท่วมใหญ่-น้ำแล้งสงขลาทั้งระบบ
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 17 ตุลาคม 2564 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการขุดลอกคลองพลเอกอาทิตย์ฯ ม.9 ต.ท่าหินกิน อ.สทิงพระ จ.สงขลา พร้อมรับฟังการบรรยายสรุป เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาและรับทราบปัญหาอุปสรรค โดยมีนายวงศกร นุ่นชูคันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พร้อมด้วย นายไพโรจน์ ศรีละมุน นายอำเภอระโนด และส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในพื้นที่ร่วมติดตามและให้การต้อนรับ
นายนิพนธ์ กล่าวว่า การขุดลอกคลองพลเอกอาทิตย์ฯ เป็นหนึ่งในโครงการบริหารจัดการน้ำคาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา ซึ่งพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระ มีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่อำเภอระโนด อำเภอกระแสสินธุ์ อำเภอสทิงพระ และอำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา ที่ผ่านมาประสบปัญหาอุทกภัยมาโดยตลอด เมื่อมีฝนตกหนักในพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และพื้นที่คาบสมุทรสทิงพระยังประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรเป็นประจำ เมื่อมีการรุกตัวของน้ำเค็มถึงทะเลสาบตอนบน ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนและเกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งขณะนี้ได้มีการขุดลอก และขยายคลองพลเอกอาทิตย์ฯ จากความกว้างเดิม 40 เมตรเป็น 70 เมตรและ ขุดขยายคลองหนัง บริเวณอำเภอสทิงพระ เพื่อเพิ่มความสามารถในการเก็บกักน้ำ ก่อสร้างแก้มลิงรวมไปถึงปรับปรุงแก้มลิงเดิมเพื่อเพิ่มความสามารถในการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ก่อสร้างระบบกระจายน้ำจากแหล่งน้ำต้นทุนต่างๆ เข้าสู่พื้นที่การเกษตร ก่อสร้างสถานีสูบน้ำ และติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ ซึ่งหากแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มศักยภาพในการกักเก็บน้ำจาก 2 ล้าน ลบ.ม. เป็น 7 ล้าน ลบ.ม. หรือมากกว่าเดิมกว่า 3 เท่าตัว โดยสามารถเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 12,000 ไร่ โดยมีแผนดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2566
ต่อจากนั้น ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เดินทางติดตามความก้าวหน้าโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ (ระยะที่ 2) ณ สำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 11 อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันและบรรเทาปัญหาอุทกภัยในตัวเมืองหาดใหญ่ และเก็บกักน้ำไว้เพาะปลูกด้านการเกษตร ผลิตน้ำประปาเพื่ออุปโภค อุตสาหกรรม สนองความต้องการใช้น้ำในด้านต่างๆ ในจังหวัดสงขลาที่กำลังขยายตัว โดยการดำเนินงานจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองระบายน้ำ ร.1 ซึ่งเดิมสามารถระบายน้ำได้ 465 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เป็น 1,200 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เมื่อรวมกับอัตราการระบายน้ำของคลองอู่ตะเภาที่ระบายน้ำได้ 465 ลูกบาศก์เมตร/วินาที จะทำให้สามารถระบายน้ำได้สูงสุดรวม 1,665 ลูกบาศก์เมตร/วินาที และเป็นแหล่งน้ำสำรองในช่วงฤดูแล้งประมาณ 5.00 ล้านลูกบาศก์เมตร มีระยะเวลาโครงการ 8 ปี (พ.ศ.2558 – 2565) วงเงินงบประมาณ 6,500 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีแผนการเตรียมความพร้อมช่วงฤดูน้ำหลากปี พ.ศ. 2564 โดยมีการเฝ้าระวังและคาดการณ์อุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ ในช่วงฤดูน้ำหลากช่วงเดือน (ต.ค.64 – ธ.ค.64) ได้แก่ 1) เฝ้าระวังพื้นที่เศรษฐกิจเทศบาลนครหาดใหญ่ และพื้นที่บริเวณใกล้เคียงอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และ 2) เฝ้าระวังพื้นที่ชุมชนริมคลองธรรมชาติ
ทั้งนี้ ให้ความมั่นใจว่าสามารถป้องกันน้ำท่วมได้ทั้งระบบ และสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ การขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร และเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้สำหรับการเกษตรในฤดูแล้ง ในพื้นที่ อ.สทิงพระ อ.สิงหนคร อ.กระแสสินธุ์ และ อ.ระโนด จ.สงขลา นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งเก็บกักน้ำส่วนเกินความต้องการในช่วงฤดูฝน ไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหรือช่วงฝนทิ้งช่วง สำหรับทำการเกษตรและอุปโภค-บริโภคด้วย