กสม. 23 ก.ย.-กสม.ชี้ตรวจเอดส์ก่อนรับเข้าทำงาน เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่สอดคล้องรัฐธรรมนูญ เตรียมเร่งหาความร่วมมือหนุนขจัดการเลือกปฏิบัติ
นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงผลการติดตามการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีในการสมัครงานกับบริษัทเอกชน โดย กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้อง 6 ราย นับตั้งแต่เดือนธ.ค.60- ส.ค.61 ว่าบริษัทเอกชน 6 แห่ง ซึ่งประกอบกิจการเกี่ยวกับธุรกิจยานยนต์ เฟอร์นิเจอร์ ก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง ประกันภัย และโรงแรม ได้ให้ผู้สมัครงานตรวจสุขภาพและตรวจหาเชื้อเอชไอวีก่อนรับเข้าทำงาน ซึ่งการกำหนดให้การตรวจเชื้อเอชไอวีเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงาน เป็นการกระทำที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยอาศัยเหตุแห่งสถานภาพทางสาธารณสุขอันถือเป็นสถานภาพอย่างอื่น การกระทำของบริษัทผู้ถูกร้อง จึงเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนและไม่สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี
กสม.ได้มีข้อเสนอแนะให้บริษัทพิจารณายกเลิกเงื่อนไขการตรวจหาเชื้อเอชไอวีก่อนรับเข้าทำงานในทุกตำแหน่ง และได้ติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะจนเดือนกันยายน 2564 ได้รับแจ้งจากบริษัทผู้ถูกร้อง 5 ราย ว่าได้ยกเลิกเงื่อนไขการตรวจหาเชื้อเอชไอวีก่อนรับเข้าทำงานในทุกตำแหน่ง อันเป็นการขจัดอุปสรรคหรือข้อจำกัดในการเข้าถึงสิทธิ ขณะที่บริษัทผู้ถูกร้องอีก 1 ราย แจ้งว่าได้ย้ำกับบริษัทที่เป็นผู้ดำเนินการคัดกรองผู้สมัครงานถึงนโยบายการไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้สมัครที่ติดเชื้อเอชไอวี
นายวสันต์ กล่าวว่านอกจากนี้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561 กสม.ได้รับร้องเรียนจากนาย ส. ซึ่งเป็นทายาทของข้าราชการตำรวจรายหนึ่งที่เสียชีวิต เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการ และได้สมัครเข้ารับการคัดเลือกเพื่อบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัต แต่ไม่ผ่านการตรวจร่างกายตามกฎ ก.ตร. ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการเป็นข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2547 และถูกปฏิเสธการบรรจุแต่งตั้ง เนื่องจากเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวี โดย กสม.พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ดำเนินการให้ตรวจเชื้อเอชไอวีโดยเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจ และนำผลการตรวจไปเป็นเหตุในการปฏิเสธไม่บรรจุแต่งตั้งนาย ส. เป็นข้าราชการตำรวจ เป็นการกระทำที่เป็นการเลือกปฏิบัติ จึงมีข้อเสนอแนะให้พิจารณาบรรจุแต่งตั้งนาย ส. เป็นข้าราชการตำรวจ เพื่อไม่เป็นการเลือกปฏิบัติ แต่เนื่องจากเรื่องนี้มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาล หรือเป็นเรื่องที่ศาลมีคำพิพากษา คำสั่ง หรือคำวินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดแล้ว จึงเห็นสมควรยุติการติดตามผลดำเนินการ
สำหรับ กฎ ก.ตร. ว่าด้วยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการเป็นข้าราชการตำรวจ พ.ศ. 2547 และบัญชีโรคหรืออาการที่ไม่ควรเป็นข้าราชการตำรวจ ห้ามรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีเป็นข้าราชการตำรวจนั้น กสม.จะหารือกับฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี เอดส์ และเครือข่ายกลุ่มประชากรที่มีความเปราะบางต่อการถูกเลือกปฏิบัติ ถึงแนวทางในการดำเนินการต่อไป และจะหารือถึงความร่วมมือในการสนับสนุนให้มีกฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล เพื่อลดปัญหาการเลือกปฏิบัติและเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชากรกลุ่มเปราะบางต่อการถูกเลือกปฏิบัติทั้งหลาย.-สำนักข่าวไทย